(เพิ่มเติม) กลุ่มผู้ใช้แรงงานหนุนรัฐปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ-คุมเข้มราคาสินค้า/กกร.แถลงจุดยืนไม่เห็นด้วย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 9, 2018 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์สนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานเท่ากันทั้งประเทศ โดยระบุว่ารัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมและครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงานและครอบครัว

"การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าจ้างให้แตกกต่างกันเป็นระดับท้องถิ่น และรัฐบาลควรกำหนดโครงสร้างค่าจ้างเพื่ออนาคตของคนงาน พร้อมๆ กับควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง"เอกสารแถลงการณ์ ระบุ

"ค่าจ้างปัจจุบัน 4 ราคา คือ 300, 305, 308, 310 บาทนั้น คนเดียวอยู่ได้หรือไม่ ครอบครัวอยู่ได้หรือไม่ รัฐบาล กลุ่มทุนและคนที่เห็นต่างลองตอบคำถามดู"

โดยแถลงการณ์ระบุว่า การปรับค่าจ้างจะมองมิติเดียวแคบๆ ไร้วิสัยทัศน์ไม่ได้ เพราะจะทำให้การพัฒนาประเทศไร้ทิศทางไปด้วย คือ อุตสาหกรรม กลุ่มทุนเติบโตร่ำรวยอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนมากขึ้น ในขณะที่ชีวิตครอบครัวคนงานยากจนลง ก็จะทำให้ประเทศชาติก้าวไม่พ้นความเหลื่อมล้ำ ก้าวไม่พ้นเรื่องความยากจน ต่อให้กี่รัฐบาล กี่การกำหนดยุทธศาสนต์ชาติ ก็ยากที่จะนำพาประเทศสู่ความก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามที่รัฐบาลประกาศไว้ได้

ขณะที่ในวันนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย แถลงจุดยืนต่อการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานของประเทศไทย โดยเห็นควรให้มีการปรับค่าจ้างแรงงานประจำปีในประเทศไทย แต่ต้องไม่เท่ากันทั้งประเทศและไม่สูงเกินไป รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรง ควรเป็นไปตามความสามารถฝีมือแรงงาน ประสบการณ์ และทักษะของแรงงาน โดยยึดหลักในการปรับค่าแรงงานประจำปีที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อเกิดความเป็นธรรมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะต่อการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีของกระทรวงแรงงานใน 5 ข้อด้วยกัน ดังนี้

1. รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ใน 2 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามส่งเสริมประสิทธิภาพและประสิทธิผลของแรงงานไทยให้เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง (Skill Labor) เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าค่าจ้างแรงงานประจำปี โดยได้มีการประกาศใช้กฎหมายพัฒนาส่งเสริมฝีมือแรงงาน และกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 67 สาขา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีทั่วประเทศเหมือนในอดีตที่ผ่านมา อีกทั้ง ยังมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ให้นำนวัตกรรมมายกระดับธุรกิจของตนผ่านนโยบาย Thailand 4.0 ดังนั้น การพิจารณาปรับค่าจ้างแรงงานประจำปีควรปรับให้สอดคล้องตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน

2. คณะกรรมการ กกร. เห็นด้วยกับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปี แต่การกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีไม่ควรกำหนดในลักษณะอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เนื่องจากสภาพข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจและความจำเป็นของแต่ละจังหวัดที่มีความแตกต่างกัน

ดังนั้น ควรมอบอำนาจให้ "คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด (ประกอบด้วย ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ผู้ว่าราชการจังหวัด แรงงานจังหวัด ธนาคารแห่งประเทศไทย พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานสถิติจังหวัด)" พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีตามสภาพข้อเท็จจริงและความจำเป็นของแต่ละจังหวัดนั้นๆ จากข้อมูลข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณากำหนดค่าจ้างแรงงานประจำปี เช่น สภาพเศรษฐกิจสังคม รายได้ประชาชาติต่อหัว สภาพ/จำนวนการจ้างงาน ประเภทและขนาดของธุรกิจ/อุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะแตกต่างกันมาก เป็นต้น

3. การปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปี ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างรอบด้าน อาทิ ผลกระทบผู้ประกอบการ SME และภาคการเกษตร โดยจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 มีการจ้างงานหรือผู้มีงานทำจำนวนทั้งสิ้น 37.72 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้มีงานทำในภาคเกษตร จำนวน 12.05 ล้านคน ภาคการผลิต จำนวน 14.79 ล้านคน และภาคบริการและการค้า จำนวน 10.88 ล้านคน

เมื่อนำข้อมูลดังกล่าว โดยเฉพาะการจ้างงานในส่วนภาคการผลิต และภาคบริการและการค้า มีจำนวนรวม 25.67 ล้านคน มาพิจารณาร่วมกับผลการสำรวจสำมโนธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม ปี 2560 และข้อมูลจัดตั้งธุรกิจ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า จำนวนการจ้างงานดังกล่าวข้างต้น มีส่วนของการจ้างงาน 11.7 ล้านคน โดยผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 3 ล้านรายรวมอยู่ด้วย ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs เหล่านี้ ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นได้ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่

อีกทั้ง เมื่อพิจารณาร่วมกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม จำนวน 12.5 ล้านคน ที่มิได้รับผลประโยชน์จากการปรับค่าแรงโดยตรงและอาจจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประเด็นที่สำคัญที่รัฐบาล ต้องพิจารณาให้การปรับอัตราค่าจ้างครั้งนี้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME และผู้ทำงานภาคเกษตรน้อยที่สุด

4. สำหรับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยพึ่งฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาปัจจัยหลายประการที่ยังมีความผันผวนอยู่ อาทิ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ดังนั้น การปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีที่สูงเกินไป อาจจะเป็นปัจจัยในการส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและความน่าสนใจในการลงทุนของประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศได้

5. ภาครัฐควรผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่แรงงานไทยที่มีทักษะสูง (Skill Labor) หรือ Brainpower ผ่านนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อสร้างสังคมการทำงานแห่งปัญญา คือ ใช้ความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาในการทำงานที่มูลค่าสูง และยกระดับแรงงานไทยเพื่อรองรับ Thailand 4.0


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ