ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้สหรัฐต่อ GSP สินค้าไทยช้ากระทบส่งออกในวงจำกัด คาดทั้งปีส่งออกไทยไปสหรัฐยังโตได้ 3.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 9, 2018 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ความล่าช้าของการพิจารณาต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกการ (GSP) ของสหรัฐฯ ที่ให้แก่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ไม่น่ามีผลกระทบต่อแนวโน้มภาพรวมการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ หากการขาดช่วงสิทธิ GSP ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากสินค้าส่งออกภายใต้ GSP ของไทย คิดเป็นเพียง 16% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.9% ของการส่งออกของไทยทั้งหมด

ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แม้จะไม่มี FTA ระหว่างกัน แต่ในช่วงที่ผ่านมาผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิ GSP (Generalized System of Preferences) ทำให้สินค้าส่งออกของไทยที่ไปยังสหรัฐฯ มีแต้มต่อในการทำตลาดได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ขณะนี้เป็นช่วงรอยต่อที่ทางการสหรัฐฯ กำลังพิจารณาทบทวนการต่ออายุสิทธิ GSP ที่ให้แก่ประเทศต่างๆ จากรอบที่เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นปี 2560 อันส่งผลให้สินค้าส่งออกจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP เดิม รวมถึงไทย ต้องเผชิญอัตราภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติในช่วงการพิจารณาต่ออายุสิทธิ GSP ดังกล่าวของทางการสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ในปี 2561 เป็นปีที่จะมีการจัดเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ทำให้ประเด็นเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดภาษีเงินได้ ตลอดจนการเร่งกดดันประเทศที่เกิดดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นประเด็นเร่งด่วนที่สหรัฐฯ น่าจะให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ ทำให้การพิจารณาต่ออายุสิทธิ GSP มีช่วงเวลาไม่ชัดเจนซึ่งมีความเป็นไปได้ใน 2 กรณีดังนี้

กรณีที่ 1 การขาดช่วงสิทธิ GSP เป็นการชั่วคราวของไทยไม่เกิน 6 เดือน ก็จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2561 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะเติบโต 5.3% (ช่วงประมาณการ 4.8-5.8%) ประกอบกับสภาพอากาศที่เลวร้ายในสหรัฐฯ น่าจะทำให้สหรัฐฯ มีความต้องการนำเข้าสินค้าหลายประเภทเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาการส่งออกของไทยภายใต้สิทธิ GSP โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2560 มีมูลค่าการใช้สิทธิ 3,448 ล้านดอลลาร์ฯ (ข้อมูลจาก USITC) เติบโต 5.1% (YoY) และคิดเป็นสัดส่วน 16.0% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบอัตราภาษีนำเข้าภายใต้สิทธิ GSP และอัตราภาษีปกติ (MFN rates) ที่สหรัฐฯ ให้เป็นการทั่วไป ในสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่อาศัยสิทธิ GSP เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และถุงมือยาง เป็นต้น ไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

กรณีที่ 2 การขาดช่วงสิทธิ GSP กินเวลายาวนานออกไป ก็อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปีนี้ลดลง 0.5 -1.0% ของคาดการณ์การส่งออก ที่อาจส่งผลกระทบในสินค้าบางประเภท โดยการขาดช่วงสิทธิ GSP ครั้งล่าสุดที่ยาวนานถึง 2 ปี ในช่วงสิงหาคม 2556 - กรกฎาคม 2558 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่ได้สิทธิ GSP ของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2556 หดตัวลงถึง 10.5% (ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐฯ เพิ่งเริ่มผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อยังไม่กลับมาเต็มที่และไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าได้มากนัก) ท่ามกลางความไม่แน่นอนในสถานะของการต่ออายุสิทธิ ก่อนจะกลับมาเติบโต 5.7% ในปี 2557

การที่สิทธิ GSP ที่ไม่ต่อเนื่องในครั้งนี้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในกลุ่ม GSP บางส่วนเผชิญความท้าทายระหว่างรอเวลาการต่ออายุสิทธิ GSP โดยอาจสูญเสียตลาดให้แก่คู่แข่งสินค้าไทยในสหรัฐฯ โดยเฉพาะจีนและเวียดนามที่มีสินค้าคล้ายคลึงกับไทย อีกทั้งแม้ไม่มีสิทธิ GSP ก็สามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาต่ำกว่าไทย ซึ่งพิจารณาได้ดังนี้

กลุ่มสินค้าที่ไม่น่ากังวลนักเพราะไทยครองตลาดในสหรัฐฯ และไทยมีส่วนแบ่งตลาดทิ้งช่วงห่างคู่แข่งพอสมควร แม้ราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้นทันทีตามการเก็บภาษีที่ MFN แต่สินค้าไทยก็น่าจะยังไปได้ คือเลนส์ ซึ่งไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของสหรัฐฯ และไทยทิ้งห่างคู่แข่งอย่างจีนและฟิลิปปินส์พอสมควร ขณะที่ถุงมือยาง ไทยมีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างมาก แต่หากขาดสิทธิ GSP เป็นเวลานานอาจสูญเสียตลาดในแก่จีนที่มีส่วนแบ่งตลาดพอๆ กับไทยและสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ต่ำกว่าทั้งๆ ที่จีนที่ไม่ได้รับสิทธิ GSP

กลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวอย่างมาก เผชิญอัตราภาษี MFN ที่ค่อนข้างสูงทำให้ต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นรุนแรง อีกทั้งไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อยจึงมีความเสี่ยงที่ผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะหันไปนำเข้าจากแหล่งอื่นทันที โดยสินค้าที่ต้องเตรียมแผนการรับมืออย่างเร่งด่วน ได้แก่ กุญแจรถยนต์ มอเตอร์ อาหารปรุงแต่ง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่เป็นเซรามิกส์ วาล์วสำหรับยางใน ของที่ทำด้วยพลาสติก ลิ้นจี่กระป๋อง และแผงควบคุมไฟฟ้า เป็นต้น

กลุ่มสินค้าที่ต้องเฝ้าระวังอาจมีคำสั่งซื้อค่อยๆ ลดลง ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวสินค้าเป็นหลัก ถ้าหากเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หาสินค้าจากแหล่งอื่นมาทดแทนยาก ก็มีโอกาสที่สินค้าไทยจะยังคงรักษาตลาดไว้ได้ อาทิ ส่วนประกอบยานยนต์ ซอสปรุงรสที่เป็นเอกลักษณ์ไทย แต่ถ้าหากเป็นสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคที่มีส่วนแบ่งกำไรที่ต่ำ ผู้ประกอบการนำเข้าทางฝั่งสหรัฐฯ อาจไม่สามารถแบกรับภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นได้ จนอาจจะตัดสินใจไปสั่งซื้อสินค้าจากแหล่งอื่นได้โดยง่าย ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอาหารบางรายการ เป็นต้น

"สหรัฐฯ น่าจะยังคงต่ออายุสิทธิ GSP กับประเทศต่างๆ ต่อไป รวมทั้งไทย เพราะสินค้าส่วนใหญ่สหรัฐฯ ยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ แต่ก็ยังต้องติดตามความคืบหน้าในการพิจารณาสิทธิจาก USTR ที่ยังมีความไม่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นการเมืองในสหรัฐฯ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจมีผลทำให้การต่ออายุ GSP ล่าช้าออกไป แต่ก็น่าจะเร็วกว่าการต่ออายุในปี 2558 ทั้งนี้ หากการต่ออายุสิทธิ GSP เป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว ก็น่าจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทยในภาพรวมไปสหรัฐฯ ในปี 2561 ก็น่าจะยังให้ภาพเติบโตต่อเนื่อง" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า การส่งออกไปสหรัฐฯ น่าจะเติบโตที่ 5.3% มีมูลค่าการส่งออกราว 27,700 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการ 4.8-5.8%) แต่ถ้าการขาดช่วงของ GSP กินเวลายาวนานออกไป ก็อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ 0.5 -1.0% ของคาดการณ์การส่งออก ซึ่งการเติบโตดังกล่าวอาจชะลอลงจากปี 2560 ที่มีฐานค่อนข้างสูงเพราะการส่งออกที่เร่งตัวตลอดปี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2560 การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เติบโต 8.1% (YoY) มีมูลค่าการส่งออก 24,335 ล้านดอลลาร์ฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ