นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงจะจัดงานสัมมนาเผยแพร่ข้อมูลโครงการก่อนประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน หรือ Pre-Tender Announcement ในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance :O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน- นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ โดยจะนำเสนอรายละเอียดโครงการและร่างแนวคิดของเอกสารเงื่อนไขการร่วมลงทุน พร้อมรับฟังความคิดเห็นก่อนสรุปผลและออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนในเดือน ก.พ.นี้ และในเดือนมี.ค.จะเปิดขายซองเอกสาร หลังจากนั้นในเดือนมี.ค.-ก.ค.จะให้เวลาเอกชนจัดทำเอกสารและยื่นข้อเสนอ และในเดือนก.ค.-ก.ย.อยู่ในช่วงประเมินข้อเสนอและเจรจาต่อรอง จากนั้นจะตรวจร่างสัญญาและเสนอขออนุมัติผลการคัดเลือกในเดือน ต.ค.-พ.ย. และในธ.ค.นี้จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และลงนามในสัญญากับเอกชนได้
“ขณะนี้มีเอกชนให้ความสนใจ 10 ราย ทั้งไทยและต่างประเทศมีทั้งญี่ปุ่น จีน เยอรมัน ...งาน O&M เป็นงาน PPP แบบ Gross Cost คนที่เสนอราคาต่ำสุดก็ได้แต่เราจะดูเทคนิค เพราะเราต้องการระบบในอนาคต ระบบเก็บเงินอัตโนมัติเป็นระบบที่ดีที่สุด" นายธานินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ ครม.ได้อนุมัติกรอบวงเงิน โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม.จำนวน 3.3 หมื่นล้านบาท ที่มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 19%ระยะเวลาคืนทุน 4 ปี และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม.จำนวน 2.8 หมื่นล้านบาท IRR 14% ระยะเวลาคืนทุน 6 ปี
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า กรมทางหลวงจะเร่งงานให้เร็วขึ้นจากที่ต้องใช้เวลา 2 ปีในการติดตั้งและทดสอบระบบ จะเร่งให้เร็วขึ้นมาเป็น 1 ปีครึ่ง ขณะที่งานโยธาของทั้งสองสายก็จะก่อสร้างเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน ดังนั้นคาดว่าจะเปิดให้บริการได้กลางปี 63 โดยในปีแรกประเมินปริมาณจราจรของมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา จำนวน 1.8 หมื่นคัน/วัน ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี คาดปีแรกมีปริมาณจราจร 1.1 หมื่นคัน/วัน
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ในรูปแบบ PPP Gross Cost ซึ่งได้แบ่งขอบเขตความรับผิดชอบระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 เอกชนจะเป็นผู้ออกแบบ และลงทุนค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เอกชนก่อสร้าง
ระยะที่ 2 ภาครัฐจะมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการทั้งหมด ทั้งงานโยธาในส่วนที่รัฐเป็นผู้ลงทุน และงานระบบในส่วนที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน ตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางให้แก่ภาครัฐ รวมทั้งดำเนินงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตงานและเงื่อนไขที่กำหนด และมีระยะเวลาร่วมลงทุนไม่เกิน 30 ปี นับแต่เปิดให้บริการ โดยเงินรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ ส่วนเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าก่อสร้างงานระบบ ค่าจ้างการดำเนินงาน และค่าบำรุงรักษา