น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมติดตามและประเมินสถานการณ์การลงทุนในปีที่ผ่านมา และแผนการดำเนินงานในปีนี้ ว่า ในปี 61 BOI ตั้งเป้ายอดขอรับสงเสริมการลงทุนปี 61 ที่ 7.2 แสนล้านบาท หรือเติบโต 12% จากปี 60 ที่มียอดขอรับส่งเสริมที่ 6.41 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6 แสนล้านบาท เป็นการยื่นขอลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 388 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 296,889 ล้านบาท
โดยมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 1,456 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 641,978 ล้านบาท ซึ่งเป็นการยื่นขอลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 388 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 296,889 ล้านบาท
ทั้งนี้มูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด 641,978 ล้านบาท เป็นการยื่นขอรับส่งเสริมของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เป็นมูลค่า 392,141 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (First S-Curve) 241,055 ล้านบาท และ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) 151,087 ล้านบาท
น.ส.ดวงใจ กล่าวต่อว่า ในปี 61 ทาง BOI ยังมีแผนเดินสายชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ (โรดโชว์) และกำหนดประเทศเป้าหมาย อาทิ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ยุโรป เป็นต้น เพื่อเผยแพร่นโยบายและรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอและรัฐบาล ประกอบด้วยคณะชักจูงการลงทุนที่นำโดยนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง และคณะชักจูงการลงทุนซึ่งนำโดยผู้บริหารบีโอไอ รวมจำนวนกว่า 30 ครั้ง และในปีนี้บีโอไอจะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในพื้นที่อีอีซี อีกไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง
สำหรับกลุ่มประเทศเป้าหมายในการชักจูงการลงทุน จะเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในปี 60 พบว่า อันดับหนึ่งคือ โครงการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น มูลค่า 133,002 ล้านบาท อันดับสองคือ สิงคโปร์ มูลค่า 40,366 ล้านบาท อันดับสาม จีน 27,514 ล้านบาท อันดับสี่ สหรัฐอเมริกา 20,022 ล้านบาท และอันดับห้า เนเธอร์แลนด์ 15,842 ล้านบาท
นอกจากนี้ BOI ยังได้รายงานถึงความพร้อมในการจัดกิจกรรมสัมมนาใหญ่ต่อยอดจากงาน Opportunity Thailand ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในปีที่แล้ว โดยมีแผนจัดงานดังกล่าวในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลไทยจะได้แสดงให้นักธุรกิจและประชาชนทั่วไปได้เห็นถึงความพร้อมของประเทศในการเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของภูมิภาค รวมทั้งได้ทราบถึงความคืบหน้าและผลจากการดำเนินงานตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จของการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ “ประเทศไทย 4.0”
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้ BOI ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในภาคการเกษตร ทั้งเรื่องการแปรรูปหรืออาหารแห่งอนาคต เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร พร้อมทั้งมอบหมายให้ BOI เพิ่มการส่งเสริมการลงทุนด้านบุคลากร ซึ่งหากมีสถาบันการศึกษาทั้งในและนอกระบบมีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เช่น ด้านดิจิตอลหรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตก็ให้ได้รับสิทธิ์ประโยชน์เพิ่มเติม รวมถึงในปีนี้ให้เน้นการส่งเสริมการลงทุนด้านบริการการท่องเที่ยวด้วย
สำหรับการการเดินสายชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ (โรดโชว์) นั้น นายสมคิด กล่าวว่า จะเป็นในรูปแบบของLocal to Local ไปยังเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเมืองฟุกุโอกะ มีอุตสากรรมขนาดใหญ่และมีเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ
ส่วนการจัดงาน Thailnad Taking off ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ จะเป็นการดึงดูดให้นักลงทุนจากทั่วโลก ให้เห็นถึงความพร้อมและสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ โดยให้เน้นไปยังอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มั่นใจว่า ร่างพ.ร.บ.อีอีซี และกฏหมายสำคัญๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุน รวมถึงการลงนาม TOR ในโครงการรถไฟความเร็วสูงจะแล้วเสร็จก่อนจัดงาน Thailnad Taking off ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ เพื่อให้ลงทุนเกิดความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการลงทุนใหม่ของไทย
นอกจากนี้การปลดล็อคความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐและยุโรปในปีที่ผ่านมา นายกอปศักดิ์ เชื่อว่า จะมีส่วนช่วยให้นักทุนทั้งจากสหรัฐและยุโรปสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นด้วย