นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินและแนวโน้มการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยกับคณะผู้บริหารของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศ (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทและสกุลเงินในภูมิภาคตั้งแต่ต้นปี 60 มาจากปัจจัยการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นสำคัญ โดยเงินทุนไหลเข้าในรูปการลงทุนในหลักทรัพย์นับเป็นส่วนน้อย ภาพรวมเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ในขณะที่ความผันผวนอยู่ในระดับปานกลาง
อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินควรไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ธปท. ได้เข้าดูแลเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศในปี 2560 ที่ปรับสูงขึ้น โดยการดูแลที่ผ่านมาไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไทยได้เปรียบการค้ากับต่างประเทศ หรือเพื่อฝืนทิศทางของตลาด แต่เพื่อให้เวลากับเอกชนในการปรับตัว
นางจันทวรรณ กล่าวว่า ในภาวะที่การค้าระหว่างประเทศมีความไม่แน่นอนสูงจากประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ และนโยบายเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรม สรท. และ ธปท. จึงเห็นร่วมกันถึงความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เริ่มตั้งแต่การเลือกกำหนดราคาสินค้า (invoicing) ในรูปเงินบาท หรือ เงินสกุลคู่ค้าที่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาท แทนการใช้เงินดอลลาร์เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการยังเลือกกำหนดราคาในรูปดอลล่าร์ สรอ. เกือบ 80% แม้จะค้าขายกับผู้ประกอบการสหรัฐฯ ไม่ถึง 20% นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่มีภาระต้องชำระเงินในสกุลต่างประเทศในอนาคต ก็อาจพิจารณาฝากเงินไว้ในรูปเงินตราต่างประเทศ (FCD) เพื่อลดผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงิน
นอกจากนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ทางการได้ผลักดันโครงการ FX options ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการในช่วงปลายปีก่อน ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับ coupon ไปแล้วประมาณ 2,000 ราย โดยแต่ละ coupon สามารถใช้ในการซื้อ options หรือ lock rate เพื่อประกันความเสี่ยงสำหรับมูลค่าส่งออกประมาณ 1 แสน ดอลลาร์ สรอ ซึ่ง ธปท. และ สรท. จะร่วมกันขยายผลของโครงการนี้สู่สมาชิก สรท. ในวงกว้างให้มากขึ้น
อีกทั้ง สรท. และ ธปท. เห็นพ้องร่วมกันว่า ช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ใช้ประโยชน์จากช่วงจังหวะนี้ นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อยกระดับผลิตภาพ (productivity) ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย และจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีอำนาจในการกำหนดราคา (pricing power) ได้ดีขึ้น