ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน ธ.ค. ลดลงตามการใช้จ่ายเพิ่มในช่วงเทศกาลปีใหม่, รอความชัดเจนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 12, 2018 14:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) จะปรับตัวลดลงตามการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือนในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยครัวเรือนราวร้อยละ 58 ที่ทำการสำรวจมีค่าใช้จ่าย (ไม่รวมภาระหนี้สิน) เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. 2560 ซึ่งส่วนใหญ่ราวร้อยละ 65 ของครัวเรือนกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายในรายการพิเศษ เช่น ท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนา ไปวัดทำบุญ สังสรรค์กับครอบครัว รวมไปถึงการซื้อของขวัญเพื่อมอบให้แก่กันเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ในขณะที่ภาวะการครองชีพของครัวเรือนในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ สถานการณ์ราคาสินค้า เงินออม รวมถึงภาระหนี้สิน ก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี การจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือนในช่วงเดือนที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลบวกต่อรายได้ของครัวเรือนบางส่วนที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับการค้าขายและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะครัวเรือนที่อาศัยในพื้นที่ภาคใต้ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกชุกและน้ำท่วมในบางพื้นที่ของภาคใต้ก็เป็นปัจจัยขัดขวางการออกไปทำงานของครัวเรือนเกษตร โดยเฉพาะการออกไปกรีดยาง ตลอดจนสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นฉับพลันในบางช่วงของเดือนธ.ค. 2560 ยังทำให้สินค้าเกษตรบางรายการมีปริมาณผลผลิตลดลง กดดันรายได้ครัวเรือนเกษตรบางส่วนให้ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนธ.ค. 2560

ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ปรับตัวดีขึ้นมากจากระดับ 46.6 ในเดือนพ.ย. มาอยู่ที่ระดับ 47.8 ในเดือนธ.ค. 2560 โดยมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพในระยะข้างหน้ามาจากความคาดหวังในปัจจุบันต่อการมีรายได้ที่ดีขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่รักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงที่ผ่านพ้นเทศกาลสำคัญๆ อย่างวันปีใหม่ที่ส่วนใหญ่จะมีการใช้จ่ายมากเป็นพิเศษไปแล้ว จึงทำให้ความกังวลของครัวเรือนต่อประเด็นทางด้านค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน

"ครัวเรือนไทยในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดมีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในอีก 3 เดือนข้างหน้าดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 นับเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อการบริโภคของภาคเอกชนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561" เอกสารศูนย์วิจัยฯ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังต้องติดตามและรอดูความชัดเจนในอีกหลายประเด็นที่คาดว่าจะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2561 ปรับตัวลดลงจากเดือนธ.ค. 2560 เช่น ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% อ้อยโรงงาน สุกร เกิน 100 กก. และไข่ไก่สด ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันรายได้ครัวเรือนเกษตรในช่วงต้นปี 2561

อีกทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2561 ที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในวันที่ 17 ม.ค. 2561 ซึ่งน่าจะสามารถบังคับใช้ได้ในช่วงไตรมาสที่ 1/2561


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ