นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวภายหลังรับมอบนโยบายจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมว่า กรมการขนส่งทางบก ดำเนินงานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การดำเนินงานและค่านิยม One Transport ของกระทรวงคมนาคม และแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของกรมการขนส่งทางบก บนพื้นฐานการสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างเชิงระบบป้องกันที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนในทุกมิติ ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง เข้มข้น จริงจัง เห็นผลแล้วจากโครงการมั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS ด้วยระบบบริหารจัดการเดินรถโดยสารและรถบรรทุก ควบคุมกำกับดูแลพนักงานขับรถ ผ่านศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ส่วนกลาง และขนส่งจังหวัดทุกแห่ง ตลอด 24 ชั่วโมง ลักษณะ Online แบบ Real-time และสังคมสาธารณะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเป็นรูปธรรมผ่านแอพพลิเคชั่น DLT GPS ทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและโลจิสติกส์ของประเทศ
"กรมการขนส่งทางบกได้กำชับเชิงนโยบายให้ทุกพื้นที่ติดตาม เฝ้าระวัง กำกับ บังคับใช้ และประสานผู้ประกอบการบริหารเชิงป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพระบบการขนส่งในระยะยั่งยืน" นายสนิท กล่าว
สำหรับมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานวิศวกรรมการยานยนต์ทั้งรถโดยสารและรถบรรทุก ต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสากล เช่น รถโดยสารที่สูงเกิน 3.60 เมตร ต้องผ่านการทดสอบการทรงตัวทุกคัน ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ตัวถังส่วนที่เป็นกระจกต้องเป็นกระจกนิรภัยประเภทเทมเปอร์ รถบรรทุกต้องติดตั้งแผ่นสะท้อนแสงตามมาตรฐานสากล ขณะที่รถโดยสารจดทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานความแข็งแรงที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และจุดยึดเข็มขัดนิรภัย, การรับรองความแข็งแรงของโครงสร้างหลักของตัวถังรถโดยสาร และมาตรฐานการลุกไหม้ของวัสดุสำหรับตกแต่งในรถโดยสาร
นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างการเร่งศึกษาการกำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งต้องมีผู้จัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่งทางถนน (Transport safety manager) ทั้งในการบริหารจัดการ การวางแผนจัดการการขนส่ง การดูแลพนักงานขับรถ ความพร้อมของยานพาหนะ และการกำกับดูแลความปลอดภัยในการขนส่ง ซึ่งจะสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณสมบัติ Safety Manager ทั้งผู้ประกอบการรถโดยสารและรถบรรทุกได้ภายในปี 2561 นี้ ส่วนการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของพนักงานขับรถ กำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องจัดให้มีการอบรมหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ขับรถเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควบคู่กับการดำเนินโครงการ Sure Driving Smart Driver เพื่อพัฒนากระบวนการออกใบอนุญาตขับรถและผู้ประจำรถให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางถนน กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกรมการขนส่งทางบกทำหน้าที่เป็น Regulator บริหารจัดการเดินรถ มุ่งเน้นการเป็น Feeder การเข้าถึงเพิ่มทางเลือก เชื่อมต่อระบบการขนส่งทุกรูปแบบ (Connectivity) ด้วยการออกแบบระบบการขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผ่านการคัดเลือก คัดสรร แข่งขัน เชิงคุณภาพ ส่งเสริมการประกอบการขนส่งแบบมืออาชีพ โดยจะเริ่มให้บริการรถโดยสารประจำทางเส้นทางนำร่องเป็นปฐมฤกษ์ในวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2561 ในเส้นทางสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี (ทางด่วน) ระยะทาง 61 กิโลเมตร ใช้รถโดยสารปรับอากาศขนาด 35 ที่นั่ง อัตราค่าโดยสารตลอดสาย 13-25 บาท ส่วนเส้นทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต คาดว่าเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ถือเป็นรถโดยสารประจำทาง 2 เส้นทางแรกที่ให้บริการภายใต้กรอบการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเป็นเอกชน 2 รายแรกที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งภายใต้การคัดเลือกด้วยรูปแบบการแข่งขันเชิงคุณภาพ
"กรมการขนส่งทางบกยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาการทำงานในทุกๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการเข้าถึงบริการจากภาครัฐ พร้อมยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการด้านการขนส่งทางถนนทั้งระบบ สู่มาตรฐานความปลอดภัยอย่างยั่งยืน" นายสนิท กล่าว