นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า โครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในปัจจุบันสหรัฐฯ ได้ต่ออายุโครงการฯ มาเป็นระยะเวลา 4 ปี 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.56 จนถึง 31 ธ.ค.60 เพื่อให้สิทธิ GSP แก่สินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด รวมถึงประเทศไทย ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯ ยังไม่ได้ประกาศต่ออายุโครงการให้กับไทย ตลอดจนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด จำนวนรวม 131 ประเทศ ทำให้การใช้สิทธิพิเศษ GSP ขาดความต่อเนื่อง
แต่หากรัฐสภาสหรัฐฯ พิจารณาและประกาศต่ออายุโครงการดังกล่าวแล้ว ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ที่ขอสงวนการใช้สิทธิพิเศษฯ ไว้ จะสามารถดำเนินการยื่นขอคืนภาษีอากรขาเข้าได้ในภายหลัง ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศจะติดตามความคืบหน้าในเรื่องการต่อโครงการ GSP สหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด และจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบในโอกาสต่อไป
"ขณะนี้ รัฐสภาสหรัฐฯ มีเรื่องต้องพิจารณาออกกฎหมายในช่วงปลายปีเป็นจำนวนมาก จึงยังไม่พิจารณาผ่านกฎหมายการต่ออายุโครงการ GSP ส่งผลให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะต้องขอสงวนการใช้สิทธิพิเศษดังกล่าว และจ่ายภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (MFN) ไปก่อนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 เป็นต้นไป" นายอดุลย์กล่าว
ทั้งนี้ โครงการ GSP สหรัฐฯ เป็นระบบสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ผู้ประกอบการไทยคุ้นเคย และสร้างประโยชน์แก่การส่งออกของไทยมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่ปี 19 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สินค้าจากประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดให้สามารถเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ได้มากขึ้น โดยจะยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ หากสินค้าอยู่ในข่ายที่ได้รับสิทธิฯ
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ กำหนดหลักเกณฑ์ในการระงับและตัดสิทธิ GSP ไว้ด้วย เช่น หลักเกณฑ์ระดับการพัฒนาประเทศ (GNP per Capita) หากประเทศใดมีรายได้ระดับสูง (High Income) จะถูกตัดสิทธิฯ โดยข้อมูล World bank ณ วันที่ 1 ก.ค.60 ประเทศที่มีรายได้ระดับสูงจะมี GNP per Capita มูลค่ามากกว่า 12,235 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี GNP per Capita มูลค่า 5,640 เหรียญสหรัฐฯ และหลักเกณฑ์ทบทวนการให้สิทธิฯ รายสินค้า โดยจะกำหนดเพดานมูลค่าการนำเข้าสหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินการยื่นคำร้อง (Petition) เพื่อรักษาสิทธิพิเศษฯ ตามกำหนดระยะเวลาที่สหรัฐฯ เปิดโอกาสให้ดำเนินการมาอย่างสม่ำเสมอ
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า หลักการสำคัญของ GSP คือ เป็นการให้ฝ่ายเดียว และเป็นการให้สิทธิฯ แบบชั่วคราว ประเทศผู้ให้สิทธิฯ จะยกเลิกหรือระงับสิทธิพิเศษนี้ได้ตามความจำเป็น โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯ พิจารณาต่ออายุโครงการ GSP ต่อเนื่องมาโดยตลอด เพราะการนำเข้าผ่านประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP จะช่วยลดการนำเข้าจากจีนและเพิ่มช่องทางการนำเข้าสินค้าจากหลากหลายแหล่งให้แก่ผู้นำเข้าได้เลือกสินค้าที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสมได้
ทั้งนี้ ในปี 60 (ม.ค.-ต.ค.) สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากไทยภายใต้โครงการ GSP เป็นมูลค่า 3,472.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ สูง ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ, ถุงมือยาง, อาหารปรุงแต่ง, ผลไม้แปรรูป และเครื่องยนต์ เป็นต้น