นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่ 3 ล้านล้านบาท ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ
ด้านนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบวงเงินและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2561 หรือเพิ่มขึ้น 3.4%
โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 2.255 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.01 แสนล้านบาทจากปีงบประมาณ 61 หรือเพิ่มขึ้น 4.7% คิดเป็นสัดส่วน 75.2% ของวงเงินงบประมาณรวม, รายจ่ายลงทุน 6.66 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7 พันล้านบาทจากปีงบประมาณ 61 หรือเพิ่มขึ้น 1% คิดเป็นสัดส่วน 22.2% ของวงเงินงบประมาณรวม, รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 7.85 หมื่นล้านบาท ลดลง 8.44 พันล้านบาทจากปีงบประมาณ 61 หรือลดลง 9.7% ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 62 ไม่มีรายการที่เสนอตั้งงบรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง
ขณะที่ประมาณการจัดเก็บรายได้สุทธิในปีงบประมาณ 2562 ตั้งไว้ที่ 2.55 ล้านล้านบาท และเป็นงบประมาณขาดดุล 4.45 แสนล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณ 2561 คิดเป็นสัดส่วน 2.6% ของ GDP
แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จะให้ความสำคัญกับการดำเนินภารกิจที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2558-2564) นโยบายสำคัญของรัฐบาล แผนปฏิรูปประเทศ แผนแม่บทระยะปานกลางและระยะยาว ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาลให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกลไกการบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ทั้ง 3 มิติ คือ มิติกระทรวง/หน่วยงาน มิติบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ และมิติบูรณาการเชิงพื้นที่
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 อยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่คาดว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.7 - 4.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้และการใช้จ่ายภาคครัวเรือน แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น พร้อมประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 62 ไว้ในช่วง 1.1-2.1% และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 6.1% ของ GDP