นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 ขณะนี้ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ ทั้งตะวันออกกลาง อินเดีย จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย รวมถึงผู้ที่ได้รับสัมปทานเดิมอย่าง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และกลุ่มเชฟรอน ซึ่งคาดว่าผู้ที่สนใจเหล่านั้นจะจับกลุ่มกันเพื่อเข้าร่วมประมูลประมาณ 3 ราย โดยเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) จะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.และจะสามารถเปิดประมูลได้ในเดือน มี.ค.
ขณะที่ตามนโยบายของ รมว.พลังงาน ต้องการให้การผลิตปิโตรเลียมมีความต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นกำหนดให้ผู้ที่ประมูลได้จะต้องรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำจากแหล่งเอราวัณและบงกช ในช่วงเวลาทั้งก่อนและหลังสิ้นอายุสัมปทานในปี 65-66 ให้เพียงพอกับความต้องการของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เป็นเงื่อนไขหลักของการประมูล ซึ่งในเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากเดิมที่กรมฯเคยเสนอให้ค่อย ๆ เพิ่มกำลังผลิต จากช่วงหมดอายุสัมปทาน โดยเริ่มจาก 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันในช่วงแรก
"ประเด็นนี้ในแง่ที่ดีก็คือประเทศจะได้มีกำลังผลิตปิโตรเลียม เพื่อความมั่นคงของประเทศจะได้ต่อเนื่องหากผลิต 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ในแง่ของการประมูล ก็อาจะทำให้รายใหม่ อาจจะเสนอแข่งขันลำบากเมื่อเปรียบเทียบกับรายเก่า"นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการปรับแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติระยะยาว (GAS PLAN) นั้นยังต้องรอการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี (PDP) ให้แล้วเสร็จก่อน เพื่อที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการใช้ก๊าซฯว่าจะมีมากน้อยเพียงใด เพราะในแผน PDP จะระบุถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และโรงไฟฟ้าที่เกิดใหม่ในอนาคตจะเชื้อเพลิงก๊าซฯหรือถ่านหินในสัดส่วนเท่าใด โดยแผนก๊าซฯจะต้องพิจารณาถึงแหล่งที่มาว่าก๊าซฯในประเทศจะมีกำลังผลิตมากน้อยเพียงใดก่อน แล้วหลังจากนั้นจะมีการจัดสัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ต่อไป
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณ ในส่วนของแหล่งบงกช คาดว่ากลุ่มเชลล์ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้น ร่วมกับ PTTEP และ Total นั้น คงจะไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้ เชลล์ได้ประกาศขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด 22.222% ในแหล่งบงกชออกไป ก่อนจะยกเลิกการขายหุ้นในเวลาต่อมาหลังมีปัญหาด้านกฎหมาย ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า PTTEP อาจจะจับมือกับ Total ในการเข้าประมูลแหล่งบงกช
ส่วนแหล่งเอราวัณนั้น ทางกระทรวงฯพยายามหว่านล้อมให้ PTTEP เข้าประมูลแข่งกับเชฟรอนฯ ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทาน แต่ปัจจุบัน PTTEP ซึ่งถือหุ้นอยู่ราว 5% ในแหล่งนี้ อยู่ระหว่างการเจรจากับเชฟรอน เพื่อจะเข้าร่วมประมูลด้วยกัน โดยมีเงื่อนไขว่า PTTEP จะขอถือหุ้นในแหล่งเอราวัณเพิ่มขึ้นด้วย
อนึ่ง แหล่งผลิตปิโตรเลียมบงกช และเอราวัณ นับเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของประเทศ โดยมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2,160 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คิดเป็น 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย