(เพิ่มเติม) ธปท.รับพบมีการเก็งกำไรค่าเงินบาทโดยมีสถาบันการเงินในปท.เกี่ยวข้อง เร่งสืบสวนเชิงลึก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 17, 2018 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในระยะนี้มาจากหลายสาเหตุ ซึ่งนอกจากจะเป็นผลมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินอื่นๆ หลายสกุลในโลก จากการที่นักลงทุนไม่มั่นใจเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวลง ขณะที่เศรษฐกิจเอาเชีย ยุโรป ฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลสูงในช่วงปลายปี 2560 ซึ่งเป็นเพราะผู้ส่งออกขายเงินตราต่างประเทศมาก

นอกจากนี้ ยังมีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย แต่จากการติดตามของ ธปท.ยังไม่พบว่ามีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาในไทยอย่างผิดปกติ เพียงแต่มีการพบพฤติกรรมบางอย่างที่แสดงถึงการเก็งกำไรค่าเงิน โดยมีสถาบันการเงินที่อยู่ในประเทศเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งในเรื่องนี้ ธปท.กำลังเข้าไปตรวจสอบในเชิงลึกและดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ผู้ว่าฯ ธปท. ยังมั่นใจว่า เงินบาทที่แข็งค่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ดีจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

"ยืนยันว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ไม่กระทบการขยายตัวของการส่งออก เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเป็นหลัก ค่าเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ เช่น ปี 2560 ที่เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 10% แต่การส่งออกก็ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด" นายวิรไท กล่าว

ผู้ว่าฯ ธปท. ยังกล่าวถึงการกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เช่น บิทคอยน์ว่า จะต้องมองในหลายมิติ ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้าไปกำกับดูแลเพียงอย่างเดียว เช่น ถ้าดูแลในเรื่องของตลาดซื้อขาย ก็มีหน่วยงานที่กำกับดูแลได้เชี่ยวชาญกว่า ธปท. หรือในมิติของป้องกันการฟอกเงิน สำนักงานคณะสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็ดูแลได้ดีกว่า โดยล่าสุด ปปง.อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมาย ถ้ามีการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นสกุลเงินอื่น ก็ต้องมีการพิสูจน์ตัวตนให้ชัดเจน

"การซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลในไทยมีประเด็นที่ต้องติดตาม 2 เรื่อง คือ เฝ้าระวังไม่ให้ใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมาย ซึ่ง ปปง.ก็ติดตามในส่วนการฟอกเงินอยู่ และการคุ้มครองผู้บริโภคในการให้ความรู้ความเข้าใจ เพราะยังมีประชาชนอีกมากที่ถูกหลอกให้มาลงทุน บางกรณีคล้ายแชร์ลูกโซ่ ซึ่งหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้ต้องเข้าไปติดตาม" นายวิรไท กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การเทรดสกุลเงินดิจิทัลยังไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เพราะยังมีมูลค่าไม่สูงมาก แต่หากสถาบันการเงินลงมาเกี่ยวข้องก็จะมีผลกระทบที่กว้างขึ้น ซึ่งเท่าที่ติดตามสถาบันการเงินไทยยังไม่เข้าไปมีส่วนกับสกุลเงินดิจิทัล

ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า การเทรดเงินสกุลดิจิทัลยังมีความเสี่ยงสูงหลายด้าน โดยเฉพาะราคาซื้อขายที่มีความผันผวนสูง และไม่สามารถอธิบายได้ว่าราคาขึ้นหรือลงเร็วมาจากสาเหตุใด ขณะที่เทคโนโลยียังมีปัญหา เพราะระบบยังมีปัญหาถูกแฮคบ่อยครั้ง นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนสูงว่าการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลจะทำให้ราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าปริมาณหน่วยลงทุนจะไม่เพิ่ม แต่ในข้อเท็จจริงมีสกุลเงินใหม่ๆ ในแต่ละประเทศมาให้ซื้อขายได้เกือบทุกสัปดาห์ ซึ่งนักลงทุนต้องมีความเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจเข้าไปลงทุน เนื่องจาก Cryptocurrency เป็นตราสารการลงทุนประเภทหนึ่งในลักษณะเสมือนจริง ไม่ใช่สกุลเงินซื้อขายสินค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ