นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์เร่งเครื่องยกระดับมาตรฐานการผลิตสัตว์และแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องตามนโยบายของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะการบูรณาการในการทำงานร่วมกันของกรมปศุสัตว์ และทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ช่วยสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ จากมาตรฐานการผลิตที่ดีและมีตลาดรองรับผลผลิต ควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจรับรอง “มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร:มาตรฐาน Q" แก่ผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารที่ควบคุมความเย็นตลอดห่วงโซ่ (Cold Chain) โดยสินค้าปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐาน Q รวม 78 แห่ง
ขณะที่กรมปศุสัตว์ประสบความสำเร็จในการผลักดันสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัย “ปศุสัตว์ OK" ทั้งร้านค้าและเขียง ร้านโมเดิร์นเทรด และตู้เย็นชุมชนพอร์คชอป ที่เป็นปลายน้ำของห่วงโซ่ทำหน้าที่ส่งมอบผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภคโดยตรง ปัจจุบัน สามารถพัฒนาสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแล้วถึง 4,000 ราย เนื้อสัตว์ทั้งหมดมาจากโรงฆ่าสัตว์รวม 65 แห่ง จากต้นทางฟาร์มเลี้ยงสัตว์ GAP รวม 1,600 ฟาร์ม ซึ่งทั้งหมดสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดการผลิต โครงการนี้ทำให้แต่ละวันมีปริมาณเนื้อสัตว์ปลอดภัยกว่า 9 แสนกิโลกรัม เข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า 35 ล้านคน พร้อมทั้งรับรองสถานที่จำหน่ายปศุสัตว์ OK ไข่ รวม 24 แห่ง และยังได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ประเภทรางวัลการพัฒนาการบริการ ระดับดีเด่น จากสำนักงาน ก.พ.ร.
"กรมปศุสัตว์ตั้งเป้าหมายการรับรองปศุสัตว์ OK เพิ่มอีก 1,000 แห่ง และจะใช้ความสำเร็จของโครงการนี้เป็นต้นแบบบูรณาการสู่กิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน ได้รับอาหารปลอดยาปฏิชีวนะและสารตกค้าง สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีสินค้าตรงกับความต้องการของตลาด และมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ" นายสัตวแพทย์อภัย กล่าว
ด้านนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะโฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ และผู้ประกอบการ ได้ร่วมกันพัฒนาระบบมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ ตลอดจนระบบการป้องกันควบคุมโรค และระบบการตรวจสอบสอบย้อนกลับ (Traceability) ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงผู้บริโภค (from farm to fork) จนมีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก (World Class Quality) ทำให้สามารถส่งออกสินค้านำเงินตราเข้าประเทศปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท
"อุตสาหกรรมไก่เนื้อเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการร่วมกันพัฒนา ทำให้วันนี้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับ 3 ของโลก จากจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ปลอดสาร ไม่มีการใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ไม่มียาปฏิชีวนะตกค้าง ทำให้เนื้อไก่ของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และปลอดภัยสำหรับการบริโภคของผู้บริโภคทั่วโลก และกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์สู่การส่งออกของไทย" นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าว
นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 1 ในเอเชีย เป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์นม อันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรองมาตรฐานและออกใบรับรองสุขอนามัยเพื่อการส่งออก มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เจรจากับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ทำให้ไทยมีโอกาสเปิดตลาดส่งออกสินค้าปศุสัตว์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2561 การส่งออกสินค้าปศุสัตว์จะเพิ่มเป็น 2.2 แสนล้านบาท
โดยในปี 2560 กรมปศุสัตว์สามารถผลักดันทุกกระบวนการให้มีมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีตั้งแต่ต้นน้ำ โดยมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงตามมาตรฐาน GMP และ HACCP จำนวน 66 โรงงาน และ 59 โรงงานตามลำดับ มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP รวม 17,750 ฟาร์ม ครอบคลุม 17 ชนิดสัตว์ ส่วนกลางน้ำมีการพัฒนาและรับรองโรงฆ่าสัตว์เพื่อการบริโภคภายในประเทศที่มีใบอนุญาต ฆจส.2 จำนวน 2,374 แห่ง ด้านโรงฆ่าสัตว์-โรงตัดแต่ง-โรงงานแปรรูป ฯลฯ เพื่อการส่งออกที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรอง GMP และ HACCP จำนวน 256 โรงงาน ศูนย์รวบรวมไข่ GMP 28 ศูนย์ และศูนย์รวมน้ำนมดิบ GMP 192 ศูนย์ รวมถึงการพัฒนาปลายน้ำด้วยการรับรองผลิตภัณฑ์อาหารตามมาตรฐาน Q และรับรอง จุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ปศุสัตว์ OK อย่างต่อเนื่อง