นายพรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานพร้อมคณะกรรมการฯ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าและสาระสำคัญของแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน หรือโรดแมพการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานในระยะเวลา 5 ปี (ปี 61-65) โดยจากการศึกษาของคณะกรรมการฯ จะดำเนินการปฏิรูปใน 6 ด้าน ครอบคลุม 17 ประเด็นด้านนโยบายพลังงานของประเทศ ซึ่งเบื้องต้นมั่นใจว่าแนวทางการปฏิรูป ฯ ดังกล่าว จะสร้างผลประโยชน์ด้านพลังงานที่ประชาชนและประเทศจะได้รับอย่างแท้จริง และการดำเนินงานจะอยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนทุกภาคส่วนยอมรับ พร้อมด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
สำหรับรายละเอียดสำคัญของการปฏิรูปด้านพลังงานทั้ง 6 ด้าน มีดังนี้ 1. สร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ ปฏิรูปใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ปฏิรูปองค์กรด้านพลังงานเพื่อให้มีองค์กรที่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2) พัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติเพื่อให้มีฐานข้อมูลด้านพลังงานที่ทันสมัย ถูกต้อง ได้รับความเชื่อถือ และ (3) สร้างธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและผู้ประกอบการอย่างเท่าเทียมกันเพื่อนำไปสู่การลดข้อขัดแย้งในสังคมและนำไปสู่การยอมรับของประชาชนในนโยบายพลังงานและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศ
2. พัฒนาด้านไฟฟ้าเพื่อรักษาเสถียรภาพและสร้างความมั่นคงพลังงานประเทศ ปฏิรูปใน 3 ประเด็น คือ (1) ปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่คำนึงถึงความสมดุลรายภาค และเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าสำหรับจุดที่มีความเสี่ยงและมีความสำคัญต่อประเทศ (2) ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า และส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตและซื้อขายไฟฟ้ากันเองภายในชุมชน และ (3) ปรับโครงสร้างการบริหารกิจการไฟฟ้าโดยบูรณาการหน่วยงานกิจการไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการไฟฟ้าและการลงทุนของประเทศ
3. ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมีมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติและสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่จากปิโตรเคมี ปฏิรูปใน 2 ประเด็น อาทิ (1) ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ โดยสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า LNG ของภูมิภาค และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ และ (2) การพัฒนาปิโตรเคมี ระยะที่ 4 เพื่อสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจากฐานการผลิตปัจจุบันในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก รวมถึงการกำหนดพื้นที่ใหม่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะยาวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ
4. สนับสนุนพลังงานทดแทนเพื่อส่งเสริมการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย (1) ปฏิรูประบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงไม้โตเร็วสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล (2) ส่งเสริมการนำขยะไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า (3) ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี และ (4) ปฏิรูปโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่งเพื่อสร้างกรอบและโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่งที่เหมาะสมกับประเทศ อันนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องทั้งด้านเกษตร การลงทุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ โรงกลั่น และยานยนต์
5. อนุรักษ์และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนพลังงานของประเทศ ปฏิรูปใน 3 ประเด็น คือ (1) ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในกลุ่มอุตสาหกรรม (2) การใช้ข้อบัญญัติเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code: BEC) และ (3) การใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในกลุ่มอุตสาหกรรม และเพื่อลดการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม และอาคารภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
6. กำหนดทิศทางการพัฒนา การลงทุน และการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ ปฏิรูปใน 2 ประเด็น เช่น (1) การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และ (2) การส่งเสริมเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงานเพื่อส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้การผลิตและการใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ นายมนูญ ศิริวรรณ หนึ่งในกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวเสริมว่า แนวทางการปฏิรูปฯ ดังกล่าว หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ เชื่อว่าแนวทางการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศจะเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยจากโรดแมพทั้ง 6 ด้าน 17 ประเด็นเบื้องต้นคาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนที่สำคัญ ดังนี้
ระยะสั้น ปี 61-62 จะมีศูนย์บริการแบบครบวงจร หรือ One Stop Service ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจไฟฟ้าพร้อมเกิดศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตพื้นที่การตั้งโรงไฟฟ้าจะเกิดจากประชาชนเสนอเองเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งเกิดการปรับแผนการจัดหาพลังงานใหม่ทั้งไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน มีการปรับโครงสร้างบริหารกิจการไฟฟ้าและส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทน มีการริเริ่มการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศจากปิโตรเคมี และรัฐบาลสามารถกำหนดทิศทางลงทุนและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานที่ได้รับการยอมรับจากผู้ลงทุน
ระยะกลาง ปี 63-65 การบริหารจัดการด้านพลังงานมีธรรมาภิบาลได้รับการยอมรับจากประชาชน ลดการผูกขาด สร้างการแข่งขันในทุกกิจการพลังงาน ประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม โดยได้รับคุณภาพและการบริการที่ดีขึ้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปตามแผนการจัดหาที่ปรับปรุงใหม่ทั้งโรงไฟฟ้า สายส่ง และระบบท่อ มีการลงทุนด้านพลังงานทั้งพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน อันนำไปสู่มูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2-3 แสนล้านบาท และจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
นายกวิน ทังสุพานิช กรรมการและเลขานุการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานในปัจจุบันว่า คณะกรรมการฯ ได้จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานแล้วเสร็จ และอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอต่อที่ประชุมร่วมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนมกราคม 2561 นี้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างแผนปฏิรูปประเทศภายในเดือนมีนาคม 2561 และรายงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบและประกาศบังคับใช้ภายในเดือนเมษายน 2561 ต่อไป