รมว.พลังงาน ยันไม่ลดบทบาท PTT-กฟผ. ย้ำให้ร่วมมือสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 18, 2018 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายลดบทบาทบมจ.ปตท. (PTT) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งรัฐบาลยังมองว่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งปตท.และ กฟผ. ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง และมอบหมายให้มีบทบาทและหน้าที่ร่วมกันรักษาและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่สำคัญต่อความมั่นคง ซึ่งได้แก่ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ สายส่งไฟฟ้า รวมทั้งสถานีก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG) และโรงไฟฟ้าหลัก ที่จำเป็นในการสร้างเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าทั้งประเทศ จะยังคงอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงาน

ส่วนบทบาทการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักของ กฟผ. และการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต่อความมั่นคงโดย ปตท. เป็นหน้าที่สำคัญที่ทั้ง กฟผ. และ ปตท. ต้องร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง ในส่วนการผลิตไฟฟ้า และการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่นอกเหนือจากที่จำเป็นสำหรับความมั่นคงแล้ว เปิดให้ภาคเอกชน มีส่วนร่วมในระบบที่มีการแข่งขัน โดยให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ปตท. และ กฟผ. สามารถร่วมแข่งขันด้วยได้ ในพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน โดยจัดให้มีการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอย่างเป็นธรรม

สำหรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าหลักของ กฟผ. และการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต่อความมั่นคงโดย ปตท. ที่เหมาะสมให้เป็นไปตามผลของการศึกษาที่จะมีการดำเนินการต่อไป ซึ่งสัดส่วนจะเป็นเท่าใดนั้น จะต้องรอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ฉบับใหม่ที่จะมีความชัดเจนและแล้วเสร็จภายในปลายเดือนมี.ค.นี้

นายศิริ กล่าวว่า ส่วนย่อยโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เช่น สถานี LNG ที่จะเป็นการลงทุนของ ปตท. ,กฟผ. หรือโดยภาคเอกชน จะต้องเป็นการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องทำการศึกษาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

ส่วนการบริหารจัดการภายในของ กฟผ. และ ปตท. เพื่อรองรับบทบาทหน้าที่ด้านความมั่นคงของระบบพลังงานของประเทศ จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยให้ความสำคัญต่ออนาคตในหน้าที่การงานของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน

สำหรับสัดส่วนกำลังการผลิตพลังงานทดแทนของ กฟผ. จากแผน PDP ฉบับเดิมที่กฟผ. เคยจะเสนอผลิตเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์นั้น อาจไม่มีการจำกัดโควตาดังกล่าว อย่างไรก็ตามต้องรอความชัดจเนแผน PDP ฉบับใหม่แล้วเสร็จก่อน

ด้านนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.จำเป็นต้องมีองค์กรที่มีความรู้ อาทิ ส่งบุคลากรไปเรียนรู้ด้านสมาร์ทกริด ,ไมโครกริด ,Energy Storage เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ. เคยเสนอแก้ไขพ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้สามารถตัดสินใจลงทุนโครงการรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ขั้นตอนหายไป ส่งผลให้ใช้บุคลากรน้อยลง ต้นทุนลดลง และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

นอกจากนี้ กฟผ.เตรียมร่วมมือกับ ปตท. ในการร่วมมือโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม ซึ่งในวันที่ 2 ก.พ.นี้ กฟผ. จะลงนามร่วมกับ (MOU) ปตท. เพื่อความร่วมมือโครงการต่างในอนาคต อาทิ ปตท.มีแนวคิดศึกษาระบบหุ่นยนต์ ซึ่ง กฟผ. ก็สนใจนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเช่นกัน

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTT กล่าวว่า ปตท.ไม่ได้ถูกลดบทบาท แต่เป็นการเพิ่มบทบาท โดย ปตท. เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นไทยแลนด์ 4.0 ,การพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งปัจจุบัน ปตท.กำลังลงทุนท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 เสริมสร้างความมั่นคงก๊าซฯฝั่งตะวันออก-ตะวันตก การขยายคลัง LNG และสร้างคลัง LNG แห่งที่ 2 เพื่องรองรับการนำเข้า LNG เสริมความมั่นคงด้านพลังงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ