(เพิ่มเติม) ธปท.ยันเงินเฟ้อปี 60 ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายฯ ยังไม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินฝืด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 18, 2018 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทำหนังสือถึงนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2560 ที่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยระบุว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรมว.คลัง มีข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.59 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5 บวก/ลบ 1.5% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2560 รวมทั้งได้ระบุแนวทางปฏิบัติในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย โดยให้ กนง.ชี้แจงสาเหตุ ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ม.ค.61 กระทรวงพาณิชย์ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือน ธ.ค.60 อยู่ที่ 0.78% ทำให้ค่าเฉลี่ยทั้งปี 60 อยู่ที่ 0.60% ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กนง.และ รมว.คลัง จึงขอชี้แจงถึง 1.สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย 2.แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะข้างหน้า และระยะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และ 3.การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

1.หลักสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น คือการดูแลให้อัตราเงินเฟ้อสามารถเข้าสู่เป้าหมายที่กำหนดได้ในระยะปานกลาง ซึ่งการประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อที่ชัดเจน จะช่วยให้นโยบายการเงินสามารถดูแลรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

2.สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 2560 เคลื่อนไหวต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย เกิดจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ คือ การลดลงของราคาอาหารสด ไม่ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินฝืด และไม่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนั้น อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันมีส่วนช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมาสามารถยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางของสาธารณชนไว้ได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย

3.ในระยะต่อไป กนง.เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง และช่วยให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ขณะเดียวกัน กนง.จะคำนึงถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งจะได้พัฒนากรอบการตัดสินนโยบายในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้นต่อไป และจะติดตามผลของการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างที่อาจกระทบต่อพลวัตเงินเฟ้อ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการกำหนดกรอบเป้าหมายและการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ในรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนธันวาคม 2560 กนง. ประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2561 มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.1% และจะเข้าสู่ขอบล่างของกรอบเป้าหมายในครึ่งแรกของปี 2561 โดยปัจจัยหลักมาจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่คาดว่าจะสูงขึ้น และราคาน้ำมันในตลาดโลกปี 2561 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และข้อตกลงขยายเวลาปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (OPEC) และประเทศนอกกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (Non-OPEC)

ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์จะทยอยปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่การขยายตัวของเศรษฐกิจจะส่งผลดีจนกระทั่งทำให้รายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างเข้มแข็งและกระจายตัวทั่วถึงมากขึ้น โดยประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยในปี 2561 จะอยู่ที่ 0.8% เทียบกับ 0.6% ในปีก่อน

กนง. และ ธปท.ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเงินและมาตรการอื่นที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ในระยะต่อไป รวมทั้งได้เร่งผลักดันมาตรการที่ช่วยลดความเปราะบางในระบบการเงินซึ่งจะลดข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต โดยในช่วงที่ผ่านมา กนง. และ ธปท. ได้ดำเนินการต่าง ๆ อาทิ 1.การติดตามพัฒนาการในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดและเข้าดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในบางจังหวะ 2.การดำเนินมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในภาพรวม เพื่อลดข้อจำกัดของการผ่อนคลายนโยบายการเงินในอนาคต (หากจำเป็น) 3.การปฏิรูปกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน (foreign exchange regulation reform) 4.มาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ในระยะต่อไป กนง. เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยขณะเดียวกัน กนง.ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ กนง.จะติดตามพัฒนาการและประเมินปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อพลวัตเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด รวมทั้งพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสาธารณชน ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ