นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกจังหวัดในปี 61 จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.08% และทำให้กรอบการการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 61 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.70-1.70% จากเดิมคาด 0.60-1.60% โดยในสัปดาห์หน้า จะนัดหารือกับภาคเอกชนทุกกลุ่มสินค้าเพื่อแจ้งผลการวิเคราะห์ค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า หากภาคเอกชนเห็นว่า ไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าเหมือนผลการวิเคราะห์ของกระทรวงฯ ก็จะขอความร่วมมือให้ตรึงราคาจำหน่ายสินค้าต่อไป แต่ถ้ามีผลกระทบ จะกระทบมากน้อยเพียงใด และจะมีผลให้ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าหรือไม่ ต้องหารือกันก่อน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ศึกษาผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 61 ที่ได้ปรับขึ้นทุกจังหวัดโดยเฉลี่ยปรับขึ้น 3.4% หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากวันละ 305.44 บาท เป็นวันละ 315.90 บาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 10.50 บาทว่า จะมีผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นต่ำสุด 0.0008% และสูงสุดอยู่ที่ 0.1% หรือมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.05% ถือว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนน้อยมาก ผู้ผลิตจะใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ได้
นอกจากนี้ ยังได้วิเคราะห์ผลการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อภาคการผลิต โดยพบว่า ต้นทุนค่าแรงในภาคการผลิตและบริการจะเพิ่มขึ้น 10,006 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.07% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยภาคบริการที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นจะได้รับผลกระทบมากสุด คือ การก่อสร้าง, การขายส่งและการขายปลีก, การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ และโรงแรมและบริการด้านอาหาร ส่วนภาคอุตสาหกรรม คือ ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม, การฟอกและตกแต่งหนังฟอก, เครื่องจักรสำนักงานโลหะขั้นมูลฐาน เป็นต้น
ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกนั้น การขึ้นค่าแรงดังกล่าว จะทำให้ต้นทุนการส่งออกเพิ่มขึ้น 0.022% หรือมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 167 ล้านบาทต่อปี โดยสาขาที่มีสัดส่วนต้นทุนเพิ่มมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การพิมพ์, เครื่องหนัง, เครื่องแต่งกาย, โลหะประดิษฐ์ และเฟอร์นิเจอร์ ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อย ได้แก่ เคมีภัณฑ์, สิ่งทอ และยานยนต์
"ผมไม่ห่วงต้นทุนสินค้า แต่ห่วงภาคบริการมากกว่า อย่างร้านอาหาร ราคาอาหารที่มีความอ่อนไหวต่อราคา ซึ่งได้สั่งการให้กรมการค้าภายในออกตรวจสอบสถานการณ์จำหน่ายสินค้าต่างๆ ทั้งอุปโภค บริโภค รวมถึงให้ประชาชน สอดส่องดูแล หากพบเห็นการปรับขึ้นราคาสินค้าเกินจริง หรืออ้างการขึ้นค่าแรง ก็ให้ร้องเรียนมาได้ หากพบเห็นการเอารัดเอาเปรียบจริง จะดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค" นายสนธิรัตน์ กล่าว
ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนของค่าแรงมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ดินที่มีสัดส่วนสูงถึง 10% และการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นการปรับเพิ่มขึ้น 5% ซึ่งยังเป็นระดับที่ไม่สูงมากและส่งผลกระทบน้อยต่อต้นทุนการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ทำให้มองว่าจะไม่ส่งผลต่อการปรับขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งค่าแรงขั้นต่ำของไทยในปัจจุบันยังถือว่าถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไม่กระทบมากนัก แต่หากอัตราค่าแรงขั้นต่ำมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึง 10% มองว่าจะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์มีการขยับเพิ่มขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัจจัยที่จะมีผลต่อการปรับขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นทุนหลักของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะราคาที่ดินในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนโครงการคมนาคมต่างๆของภาครัฐ ทำให้จะเห็นแนวโน้มของราคาที่ดินขยับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังมองว่าในสิ่งที่ยังมีความน่ากังวลอยู่เป็นเรื่องของซัพพลายแรงงานที่อาจจะยังขาดแคลนหากมีการลงทุนและก่อสร้างโครงการต่างๆเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีการใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีการใช้แรงงานค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการก่อสร้างแทนแรงงาน เนื่องจากอัตราค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการก่อสร้างในประเทศไทยอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการยอมรับอีกสักระยะ หรือจนกว่าอัตราค่าแรงจะปรับเพิ่มขึ้นสูงจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนก่อสร้าง
“การขึ้นค่าแรงในครั้งนี้มองว่าราคาบ้านคงไม่ขึ้น เพราะต้นทุนมาจากค่าแรงเพียงเล็กน้อย แต่ที่เป็นต้นทุนหลักๆมาจากที่ดิน ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ทำให้ราคาบ้านปรับเพิ่มขึ้น คิดว่าค่าแรงเพิ่มขึ้นก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มราคาอสังหาฯ อย่างจังหวัดที่เพิ่มเยอะ เช่น ชลบุรี ระยอง ที่เพิ่มไป 30 บาท แต่ราคาอสังหาฯในพื้นที่นั้นก็ไปล่วงหน้าก่อนขึ้นค่าแรงแล้ว”นายอธิป กล่าว