ธปท.ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสอดคล้องภาวะศก. พร้อมติดตามผลกระทบต่อเงินเฟ้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 18, 2018 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ ซึ่งคิดเป็นอัตราเพิ่ม 3.4% โดยเฉลี่ยทั่วประเทศนั้น ถือว่าเป็นขนาดการปรับเพิ่มที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ยังไม่กระจายตัวมากนัก โดยจะส่งผลดีให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อการบริโภคในภาพรวม และช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

"จากข้อมูลการสำรวจ พบว่ากลุ่มลูกจ้างที่มีรายได้ในปัจจุบันต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่จะประกาศใหม่มีอยู่ประมาณ 12% เมื่อประกาศใช้ค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่ จะทำให้คนกลุ่มนี้มีระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น และช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนของกลุ่มดังกล่าวที่ยังอยู่ในระดับสูงได้บ้าง" นายดอนกล่าว

พร้อมระบุว่า ในเรื่องความกังวลต่อความสามารถของผู้ประกอบการที่จะแบกรับภาระต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้นนั้น เป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งมีต้นทุนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานรายได้ขั้นต่ำเป็นค่าใช้จ่ายหลักของกิจการ

นายดอน กล่าวด้วยว่า สำหรับผลของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเงินเฟ้อ เป็นสิ่งที่ ธปท. จะติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด โดยผลกระทบต่อเงินเฟ้อจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยของลูกจ้าง ภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น และการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นราคาของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ เป็นการปรับในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความเหมาะสม เพราะได้คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญ เช่น ปรับขึ้นค่าแรงในอัตราสูงในพื้นที่ EEC ซึ่งผู้ประกอบการมีศักยภาพในการสร้างผลิตภาพจากแรงงานที่จ้างอย่างคุ้มค่า หรือในกรณีที่ปรับขึ้นค่าแรงไม่มากนักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยเพราะคำนึงถึงการประคองภาวะเศรษฐกิจท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ