นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูง ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน ไม่ใช่เฉพาะเงินบาทแข็งค่า แต่เงินวอน เงินริงกิตก็แข็งค่ามากเช่นกัน จึงแนะนำให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน
แม้ว่าในปีที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งตามคาด แต่ก็ไม่ได้ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกันปัจจัยในประเทศที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเกือบ 4.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 10%ของจีดีพี เนื่องจากไทยมีเงินตราต่างประเทศเข้ามามาก ทั้งจากการส่งออก และ การท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ธปท.จะดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไปกระทบกับการทำธุรกิจของภาคธุรกิจจริง (Real Sector)
ส่วนเงินทุนที่ไหลเข้ามาในช่วงนี้เข้ามากระจายในประเทศแถบเอเชีย ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย เป็นเพราะสถานการณ์การเมืองต่างประเทศมีความไม่แน่นอน โดยมีเงินเข้ามาทั้งตลาดหุ้นและพันธบัตรราว 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ คาดว่าในช่วงไตรมาส 1/61 ธปท.จะมีการออกประกาศการจัดตั้ง Banking Agent ที่จะช่วยทำหน้าที่แทนสาขาที่ลดลงไปตามสถานการณ์ที่มีใช้เทคโนโลยีมากขึ้นแทน ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะแต่งตั้ง Banking Agent เป็นตัวแทนสถาบันการเงินในการให้บริการซึ่งจะทำหน้าที่รับฝากถอนเงินสด และรับชำระค่าบริการต่างๆ
นายวิรไท กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ปิดสาขาเป็นจำนวนมาก เพราะต้นทุนการให้บริการแต่ละสาขาเพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้ทำให้ต้นทุนถูกลง เป็นประโยช์ต่อประชาชน ตัวอย่างเช่น บริการพร้อมเพย์ ปัจจุบันมี 7 แสนราย/วัน จากที่เปิดให้บริการมา 1 ปี มีการใช้มากขึ้น ทดแทนการใช้เงินสดได้ นอกจากนี้จะมีบริการใหม่ ๆ ที่เชื่อมต่อระบบพร้อมเพย์มากขึ้น เชื่อมโยงธุรกรรมการซื้อขายสินค้าได้
"เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว เราอาจจะเห็นธนาคารพาณิชย์มีรูปแบบใหม่ อาจจะให้บริการเป็นจุด ๆ ซึ่ง ธปท.เตรียมออกประกาศ Banking Agent มีคนให้บริการเป็น Agent ของธนาคารให้กับประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะให้บริการประชาชนและลดต้นทุนของธนาคารได้"
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ผู้ว่าธปท. ระบุว่า ในหลายจังหวัดมีอัตราค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว และการปรับขึ้นค่าแรงมีผลต่อเงินเฟ้อไม่มาก