นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปี 61 คาดว่าจะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากประมาณการเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 34 บาท/ดอลาร์สหรัฐฯ หลังจีนมีนโยบายการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับเงินหยวนยังมีสัดส่วนเงินทุนสำรองของโลก คิดเป็น 1% ของเงินทุนสำรองโลก ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเป็นอันดับ 2 ของโลก ในขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯคิดเป็น 64% ของเงินทุนสำรองโลก ขณะเดียวกันนักลงทุนยังลดความสนใจค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และหันมาสนใจสกุลยูโรมากขึ้น หลังตัวเลข PMI ภาคการผลิตและการบริการในยูโรโซนขยายตัวได้ถึงมากกว่า 50 จุด สะท้อนเศรษฐกิจในยูโรโซนที่จะขยายตัวได้มากกว่า 2% ใกล้เคียงกับสหรัฐฯ
อีกทั้งการที่ค่าเงินบาทยังแข็งค่าได้ต่อเนื่องเป็นผลมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงถึงกว่า 2 แสนล้านบาท และเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินในปีนี้ที่ 1.1% ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบความเสียหายจากการแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่ในปี 59 ที่ระดับ 35.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จนถึงปัจจุบันที่ 32-33 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้ในเมือคิดเป็นสกุลเงินบาทราว 1.2 แสนล้านบาท
สำหรับแนวโน้มของกระแสเงินทุนที่เข้ามาตั้งแต่ปี 60 ถึงปัจจุบัน ยังคงเป็นการไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรสูงถึง 9 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น เงินไหลเข้าในพันธบัตรระยะยาว 7.3 แสนล้านบาท และตลาดพันธบัตรระยะสั้น 1.6-1.7 แสนล้านบาท ซึ่งระดับของเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้าในตลาดพันธบัตร 9 แสนล้านบาท ถือว่าใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในเดือนพ.ค.56 ซึ่งตอนนั้นค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 28.50 บาท/ดอลลาร์ โดยกระแสดเงินทุนไหลเข้ามาในพันธบัตรเป็นจำนวนมาก เพราะมุมมองของนักลงทุนต่างชาติมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยในการลงทุน และมีหนี้สินต่างชาติอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งประเทศไทยมีสถานภาพเป็นเจ้าหนี้ของประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตามตลาดพันธบัตรอาจจะได้รับแรงกดดันในช่วงตั้งแต่กลางปีนี้ หากธนาคารกลางยุโรป (ECB) พิจารณายกเลิกมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบ (QE) และ ECB จะมีการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 62 ส่งผลให้สภาพคล่องลดลง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตลาดพันธบัตร
นายกอบสิทธิ์ กล่าวถึงการเลือกตั้งของไทยที่อาจจะมีการเลื่อนออกไปจากแผนเดิมในช่วงปลายปี 61 ว่า อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาส เพราะการลงทุนในไทยจะเกิดการชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศจะชะลอการลงทุน ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้นให้น้ำหนักการเลือกตั้งและความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายเป็นปัจจัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 61 จะยังคงขยายตัวได้ 4% หลังจากภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวได้น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม ซึ่งการขยายตัวของการส่งออกมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้เติบโต 3.7% อีกทั้งการท่องเที่ยว การลงทุนของภาครัฐและเอกชน ยังเป็นแรงหนุนที่สำคัญของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งจะเห็นได้ว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 64% ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความต้องการและการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น
"การเลือกตั้งที่ถูกเลื่อนออกไปส่งผลให้เราเสียโอกาสในการลงทุน หากดูจากส่งออกเราเพิ่งมาเกิน 2 หลักในปีที่แล้ว แต่เพื่อนบ้านเราเกิน 2 หลักมานานแล้ว และตอนนี้ยังมาเจอการเมืองเข้ามาอีก ก็จะทำให้เม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในไทยลดลงได้"นายกอบสิทธิ์ กล่าว