ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เสนอรายงานเรื่อง “Butterfly effect : ผลกระทบจากการปะทะในคาบสมุทรเกาหลีต่อเศรษฐกิจไทย” ระบุว่า การพิพาทในคาบสมุทรเกาหลีมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นและอาจก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลซึ่งสามารถสร้างแรงกระเพื่อมลูกใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้
"หากความขัดแย้งยกระดับไปเป็นการปะทะจริง สงครามในคาบสมุทรเกาหลีอาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้หยุดชะงักและส่งผลต่อการผลิตและการขนส่งของโลกและไทยอย่างมีนัยสำคัญ เปรียบได้กับผีเสื้อขยับปีก (Butterfly effect) แม้มีโอกาสน้อยแต่อาจสร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลได้" วิจัยกรุงศรี ระบุ
สงครามในคาบสมุทรเกาหลีจะส่งผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจโลกผ่านการชะงักงันของเศรษฐกิจเกาหลีเหนือ แต่ผลกระทบจะมีจำกัดเพราะมูลค่าการส่งออกของเกาหลีเหนือคิดเป็นเพียง 0.02% ของมูลค่าการค้าโลก ขณะที่มูลค่าการส่งออกจากไทยไปเกาหลีเหนือคิดเป็นเพียง 0.02% ของการส่งออกรวมของไทยในปี 59
สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือผลกระทบทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจเกาหลีใต้ การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเกาหลีใต้จะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง เพราะเกาหลีใต้เป็นผู้เล่นคนสำคัญทั้งในห่วงโซ่การผลิตและการขนส่งของโลก เมื่อพิจารณาจากมูลค่าวัตถุดิบที่นำเข้าหรือมูลค่าเพิ่มที่เกาหลีใต้ผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศ เกาหลีใต้จึงเป็นศูนย์กลางของสายพานการผลิตซึ่งทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตต้นน้ำและปลายน้ำ และยังเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของโลก โดยท่าเรือปูซานรองรับตู้คอนเทนเนอร์จำนวนกว่า 19.5 ล้านตู้ในปี 58 สูงเป็นอันดับที่หกของโลก ดังนั้นการขาดหายไปของเกาหลีใต้จะทำให้การค้าโลกหยุดชะงักลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
จากการศึกษาพบว่า ไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ หากเกาหลีใต้ไม่สามารถผลิตหรือขนส่งสินค้าได้เป็นเวลา 1 ไตรมาส จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีของไทยลดลง 1.8% หรือทำให้ผลผลิตมวลรวม (GDP) หายไป 0.5% อย่างไรก็ดี ไทยจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศผู้ส่งออกสำคัญรายอื่นในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ไต้หวัน มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีความเชื่อมโยงทางการค้ากับเกาหลีใต้สูงกว่าไทย
ในระดับอุตสาหกรรม ภาคการผลิตไทยที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์กระดาษ เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาค ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีความเชื่อมโยงกับเกาหลีใต้ค่อนข้างสูงผ่านการส่งออกสินค้าขั้นกลางผ่านจีนและมาเลเซีย และเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งตลาดต่างประเทศเป็นหลักจึงอาจได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง
สำหรับอุตสาหกรรมกระดาษ เกาหลีใต้เป็นผู้นำเข้าหลักของไทยโดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 17% ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กระดาษของไทยในปี 2559 เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ในไทยเป็นบริษัทเกาหลีใต้ที่เข้ามาลงทุนเพื่อผลิตและส่งสินค้ากลับยังประเทศแม่
สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรองลงมา ได้แก่ โลหะขั้นมูลฐาน สินค้าเกษตร และเคมีภัณฑ์ แม้อุตสาหกรรมโลหะขั้นมูลฐานมีความเชื่อมโยงทางการค้ากับเกาหลีใต้ค่อนข้างสูง แต่ยังสามารถกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดภายในประเทศรวมถึงตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงได้ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับภาคเกษตรกรรม ไทยส่งสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพาราไปแปรรูปยังจีนก่อนส่งต่อไปยังเกาหลีใต้ โดยจีนยังส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปไปยังประเทศอื่นๆ อีกกว่า 200 ประเทศ จึงสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง สำหรับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์โดยเฉพาะผู้ผลิตไฮโดรคาร์บอนมีการพึ่งพาคำสั่งซื้อจากเกาหลีใต้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น จึงอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า