น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม – ธันวาคม 2560) มีจำนวน 547,678 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 23,732 ล้านบาท หรือ 4.5% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 0.1%
โดยมีสาเหตุจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และกรมสรรพสามิต สูงกว่าประมาณการ 9,556 4,848 และ 388 ล้านบาท หรือ 28.3% 8.9% และ 0.3% ตามลำดับ โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีรถยนต์ และภาษีเบียร์ ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,409 ล้านบาท และ 483 ล้านบาท หรือ 9.7% และ 3.9% ตามลำดับ
"การจัดเก็บรายได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 ยังเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังได้ประเมินไว้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะกำกับให้กรมจัดเก็บสังกัดกระทรวงการคลัง ติดตามการจัดเก็บรายได้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเป็นไปตามประมาณการที่ตั้งไว้" น.ส.กุลยาระบุ
โดยกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 370,623 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,309 ล้านบาท หรือ 1.1% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.0%) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 3,424 และ 458 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.7% (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 6.3%) และ 53.9% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 52.7%) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 169 ล้านบาท หรือ 0.2% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4.2%)
กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 117,743 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 388 ล้านบาท หรือ 0.3% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 10.8%) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ ภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,409 ล้านบาท หรือ9.7% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 16.7%) เนื่องจากปริมาณรถยนต์ที่ชำระภาษีสูงกว่าที่ประมาณการไว้ ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 483 ล้านบาท หรือ 3.9% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 44.4%) และภาษียาสูบ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 271 ล้านบาท หรือ 1.9% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 12.5%)
กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 28,493 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 807 ล้านบาท หรือ 2.8% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 10.8%) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 1,257 ล้านบาท หรือ 4.4% เนื่องจากการนำเข้าสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้การจัดเก็บอากรขาเข้าไม่ขยายตัวตามที่ประมาณการไว้ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และในรูปเงินบาทในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ขยายตัว 13.6% และ 7.8% ตามลำดับ โดยสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ยานบกและส่วนประกอบ (2) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ (3) เครื่องจักรและเครื่องใช้กล (4) ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และ (5) พลาสติก
ส่วนรัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 43,313 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9,556 ล้านบาท หรือ 28.3% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4.2%) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (2) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (3) กองทุนรวมวายุภักษ์ (4) การท่าเรือแห่งประเทศไทย และ (5) การประปาส่วนภูมิภาค
ด้านหน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 59,155 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,848 ล้านบาท หรือ 8.9% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 10.6%) เนื่องจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นสำคัญ สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 3,361 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 421 ล้านบาท หรือ 14.3% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8.9%) โดยรายได้ด้านที่ราชพัสดุจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ
สำหรับการคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 61,271 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12,982 ล้านบาท หรือ 17.5% ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 51,884 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 13,716 ล้านบาท หรือ 20.9% และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 9,387 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 734 ล้านบาท หรือ 8.5%
อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 3,676 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 776 ล้านบาท หรือ 26.8% 2.8% การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 4,093 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 250 ล้านบาท หรือ 5.8% 2.9% เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 2,609 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,600 ล้านบาท หรือ 38.0% เป็นผลจากการปรับลดอัตราเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออกจาก 0.75% เป็น 0.5% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ในเดือนธ.ค.60 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 202,076 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,283 ล้านบาท หรือ 3.2% (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 11.6%) โดยการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากร สูงกว่าประมาณการ 2,979 2,463 และ 606 ล้านบาท หรือ 9.4% 126.3% และ 6.1% ตามลำดับ
สำหรับภาษีที่จัดเก็บสูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,377 ล้านบาท หรือ 3.9% (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 4.8%) เนื่องจากภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 51) จัดเก็บได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้ นอกจากนี้ ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,107 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนรถยนต์ที่ชำระภาษีสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้