กฟผ.เปิดเวทีรอบแรกรับฟังความเห็นโรงไฟฟ้ากระบี่ 28 ม.ค.ขยายพื้นที่รับฟังเพิ่มอีก 2 ตำบล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 25, 2018 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 ม.ค.นี้จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 1 (ค.1) เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ (ส่วนขยาย ครั้งที่ 1) ซึ่งดำเนินการตามหนังสือของสำนักงานโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ให้ กฟผ. ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ใหม่ โดยมุ่งเน้นกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการแสดงความคิดเห็นและการตัดสินใจในการจัดทำรายงาน EHIA จากทุกฝ่าย

ทั้งนี้ กฟผ. มีความตั้งใจที่จะรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางมากขึ้น เพื่อรับฟังข้อห่วงกังวลต่าง ๆ ที่อาจมีเพิ่มเติมจากการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งก่อน โดยขยายขอบเขตการจัดรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายในเชิงพื้นที่จากเดิม 2 ตำบล คือ อบต.คลองขนาน และ อบต.ปกาสัย ได้เพิ่มอีก 2 ตำบล คือ อบต.คลองท่อมใต้ และ อบต.โคกยาง ด้วย

ในส่วนประเด็นหัวข้อการศึกษาเพิ่มเติม โครงการฯ ได้นำข้อคิดเห็นของคณะกรรมการไตรภาคี คณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ (คณะกรรมการไตรภาคี) รวมถึงข้อคิดเห็นจากคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ภาคประชาชน (คณะกรรมการไตรภาคี) มาศึกษาเพิ่มเติม อาทิ ประเด็น ฝุ่นละออง PM2.5 สมดุลมวลปรอท ผลกระทบโครงการต่อวิสัยทัศน์กระบี่ เป็นต้น ส่วนโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ก็ได้พิจารณาเพิ่มเติมเรื่องการฟุ้งกระจายของตะกอนเนื่องจากใบพัดเรือ ศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งครอบคลุมถึงฝั่งท่าเรือ และฝั่งตรงข้าม เป็นต้น

กฟผ. ได้ให้ข้อมูลโครงการและประกาศเชิญชวนประชาชนเข้ารับฟังความคิดเห็นในเวที ค.1 ผ่านช่องทางที่หลากหลายและเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและได้ความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เช่น แผ่นพับให้ความรู้ หอกระจายเสียงชุมชน สถานีวิทยุ ป้ายประกาศ รถแห่ประชาสัมพันธ์ การแถลงข่าวสื่อมวลชน ให้ข้อมูลในที่ประชุมส่วนราชการของจังหวัดและท้องถิ่น ทางเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี เว็บไซต์ของ กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษา รวมถึงช่องทางสื่อสารออนไลน์อื่น ๆ พร้อมทั้งส่งจดหมายเชิญไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงครัวเรือนที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากขอบรั้วพื้นที่โครงการ เป็นต้น

นอกจากนี้ ประชาชนที่ไม่สะดวกเดินทางไปร่วมงาน ยังสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น โดยส่งความคิดเห็นไปที่ คุณณัฏฐิดา ประดับ บริษัท แอร์เซฟ จำกัด โทรศัพท์ 02-540-0055 และ 089-793-8090 โทรสาร 02-917-0020 หรืออีเมล์ as.public.consult@gmail.com ได้ภายในวันที่ 12 ก.พ.61 นับจากวันจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น โดยข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของทุกท่านจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะดำเนินการต่อไป

“การจัดรับฟังความคิดเห็นนี้ กฟผ.เปิดให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA ตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกครั้งที่ผ่านมา ที่จะมีทั้งผู้แทนของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยลงทะเบียนและเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และมีการเผยแพร่ข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นให้สาธารณชนรับรู้อย่างเปิดเผยเพื่อความโปร่งใส อีกทั้งการสื่อสารสาธารณะในปัจจุบันยังเปิดกว้างให้มีการนำข้อมูลไปเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมในปัจจุบันที่เปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วมโดยไม่ปิดกั้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด"โฆษก กฟผ.กล่าว

สำหรับการศึกษาและจัดทำรายงาน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ (ส่วนขยาย ครั้งที่ 1) และรายงาน EIA โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว มีบริษัท แอร์เซฟ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาที่ได้รับใบอนุญาตและมีสิทธิ์จัดทำรายงาน EHIA และ EIA จาก สผ. เป็นผู้ดำเนินการ โดยจะศึกษาและจัดทำรายงานของทั้ง 2 โครงการ แยกออกจากกัน คาดว่าใช้เวลาการศึกษาและจัดทำรายงานทั้ง 2 ฉบับประมาณ 1 ปี

ทั้งนี้ บริษัทกำหนดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ (ส่วนขยาย ครั้งที่ 1) ในวันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2561 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ และกำหนดจัดรับฟังความคิดเห็น ค.1 โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วในวันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลคลองขนานเช่นเดียวกัน

อนึ่ง กระบวนการจัดทำรายงาน EHIA จะประกอบด้วยการจัดรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 (ค.1) เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ครั้งที่ 2 (ค.2) เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และครั้งที่ 3 (ค.3) เพื่อทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ