CAT สร้างโครงข่ายสื่อสารใหม่ LoRaWan รองรับอุปกรณ์ IoT มีแนวโน้มใช้งานมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 25, 2018 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) กล่าวว่า ตลาดคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปีจะเกิดอุปกรณ์ IoT บนโลกเพิ่มขึ้นหลายหมื่นล้านอุปกรณ์ สำหรับประเทศไทยปัจจุบันทุก ภาคส่วนกำลังให้ความสนใจและมีแนวโน้มการใช้งาน IoT มากขึ้น CAT จึงจำเป็นต้องสร้างโครงข่ายสื่อสารใหม่ คือ LoRaWan (Long-Range Wide Area Network) หรือเรียกว่าโครงข่าย LoRa ขึ้นเพื่อจะรองรับให้อุปกรณ์ IoT จำนวนมหาศาลนี้เชื่อมโยงส่งข้อมูลสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

LoRaWan คือ โครงข่ายบนคลื่นความถี่เฉพาะเพื่อใช้งานกับ IoT เสมือนเป็นถนนเลนพิเศษ แยกจากคลื่นโทรศัพท์มือถือที่เราใช้สื่อสารทั่วๆ ไป ขณะนี้โครงข่าย LoRa ได้เปิดใช้งานแล้วในหลายพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ ชลบุรี น่านระยอง สระบุรี สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สงขลา ขอนแก่น ภูเก็ต และจะเร่งขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีนี้

ขณะเดียวกัน CAT ยังมุ่งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา IoT ในกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่มากขึ้น โดยส่งเสริมโอกาสให้เด็กไทยได้พัฒนาความรู้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอุปกรณ์ IoT และได้นำไปต่อยอดใช้ประโยชน์พัฒนาสังคมและประเทศชาติในมิติต่างๆ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมและนำประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0อย่างยั่งยืน

ล่าสุด CAT จึงได้ ร่วมกับ สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (Thai Embedded Systems Association: TESA) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (วิทยาเขตปราจีนบุรี) และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) จัดโครงการ TESA Top Gun Rally ครั้งที่ 12 ณ ค่ายเยาวชนสุรัสวดี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อวันที่ 7-13 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเวทีประชันทักษะด้านสมองกลฝังตัวภายใต้หัวข้อ ระบบอัจฉริยะสำหรับอุทยานแห่งชาติ 4.0(Smart National Park 4.0) โดยมีนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ได้เข้าแข่งขันสร้างสรรค์ระบบปฏิบัติการอย่างเข้มข้นรวมกว่า 200 คน จำนวน 40 ทีม

และตลอด 1 สัปดาห์ที่ผู้เข้าแข่งขันทุกทีมได้รับทราบและทำความเข้าใจปัญหาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระดมสมอง Workshop ต่างๆ มีการประยุกต์องค์ความรู้ด้านสมองกลฝังตัวบวกกับการใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ระบบปฏิบัติการ เพื่อสร้างเป็นต้นแบบสมองกล Universal National Park Box (UNPBox) หรือกล่องอเนกประสงค์ที่สามารถทำงานได้หลากหลาย แก้ปัญหาการบริหารจัดการของอุทยานแห่งชาติและตอบโจทย์ในสภาพแวดล้อมการทำงานจริงของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

ทั้งนี้ CAT ได้ติดตั้งอุปกรณ์โครงข่าย LoRa ส่งกระจายสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ของโครงการฯบนเขาใหญ่ เพื่อให้ระบบปฏิบัติการกล่อง UNPBox ที่ผู้แข่งขันทุกทีมคิดค้นขึ้นสามารถสื่อสารและสั่งการผ่านโครงข่าย LoRa โดยมีการรับส่งข้อมูลกับคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ของอุทยานฯ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมทั้งทีมเจ้าหน้าที่ CAT ได้ฝึกอบรมให้ผู้แข่งขันทุกทีมได้รับความรู้ความเข้าใจทั้งระบบปฏิบัติการ การประมวลผลสัญญาณ ตลอดจนการทดสอบการทำงานของซอฟต์แวร์บนโครงข่าย LoRa เพื่อนำไปพัฒนาระบบสมองกลบนโครงข่าย LoRa ให้ตอบโจทย์ตรงตามที่ต้องการและผลการตัดสินของคณะกรรมการได้มีผลงานระบบซอฟต์แวร์ที่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติงานได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ