นักบริหารเงินฟันธงบาทปีนี้ยังผันผวนตามปัจจัยใน-นอกเตือนธุรกิจส่งออกตั้งรับ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 26, 2018 11:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จับตาทิศทางเงินบาทปีจอ หลังแข็งค่าต่อเนื่องจากต้นปี 60 กว่า 10% จากปัจจัยกดดันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ชี้เงินบาทยังมีโอกาสผันผวน แนะผู้ประกอบการเร่งบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนลดผลกระทบต่อธุรกิจ

*BAY ระบุทุนไหลเข้ากดดันบาทแข็งต่อเนื่องให้กรอบปีนี้ 31.25-33.25

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการผู้บริหารกลุ่มวิเคราะห์ตลาดการเงิน ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์โกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ให้มุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่องในระยะสั้นจากเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทย โดยในช่วง 10 วันทำการแรกของปี 61 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท

หากพิจาณาปัจจัยพื้นฐานของไทย จะพบว่าระยะหลังไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จากการส่งออกและท่องเที่ยวที่ขยายตัวโดดเด่น โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 60 การเกินดุลสูงถึง 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.3 ล้านล้านบาท ขณะที่การไหลเข้าสุทธิของเม็ดเงินต่างชาติตลอดทั้งปีอยู่ที่ระดับ 2-3 แสนล้านบาท

"ประเทศที่เกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูง มักเป็นเป้าหมายสำหรับกองทุนต่างชาติที่แสวงหาแหล่งพักเงินท่ามกลางแรงขายดอลลาร์ในตลาดโลก ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ผู้ส่งออกไทยรีบขายดอลลาร์ออกมา ในทางกลับกัน ผู้นำเข้ามักรอเวลาทยอยเข้าซื้อดอลลาร์ ในภาวะที่ผู้เล่นในตลาดมีมุมมองคล้ายๆ กันว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าต่อไป จะส่งผลเชิงจิตวิทยาเป็นวงจรดังกล่าว ทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว" น.ส.รุ่งกล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

พร้อมมองว่า ปัจจัยลบของค่าเงินดอลลาร์แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดจากตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกนำโดยสหรัฐฯ กำลังขยายตัวได้ดี แต่เห็นได้ชัดว่าตลาดเลือกที่จะขานรับต่อสัญญาณการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติของธนาคารกลางหลักของประเทศอื่น เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เนื่องจากประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อยู่ช่วงกลางถึงปลายวัฎจักรของการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ขณะที่ภูมิภาคอื่นยังไม่ได้เริ่มต้นขาขึ้นของดอกเบี้ย

"สังเกตได้ว่าในปี 60 FED ขึ้นดอกเบี้ยรวม 0.75% แต่เงินยูโรกลับแข็งค่าขึ้นกว่า 14% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ แม้ ECB ยังไม่ได้ยุติโครงการเข้าซื้อพันธบัตรแต่อย่างใด และในปีนี้ FED มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้ง แต่ตลาดรับรู้ทิศทางนโยบายดังกล่าวไปแล้ว จึงหันไปให้ความสนใจกับฝั่งยูโรโซน ซึ่งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษของ ECB ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ตลาดยังเฝ้าจับตาการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ ช่วงปลายปี ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาต่อประธานาธิบดีทรัมป์" น.ส.รุ่งกล่าว

ทั้งนี้ แม้เงินบาทจะแข็งค่าหลุดระดับ 32.00 บาท/ดอลลาร์ไปแล้วก็ตาม แต่เชื่อว่าการที่เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป ก็มีโอกาสจะพักฐานหรือแม้แต่เผชิญแรงขายทำกำไรเป็นระยะ โดยมีความเสี่ยงที่กระแสเงินทุนจำนวนมากซึ่งไหลเข้าสู่ตลาดการเงินไทยก็อาจไหลออกไปได้อย่างรวดเร็วเช่นกันหากมีกรณีที่ทำให้ sentiment ของตลาดเปลี่ยนไป เช่น หากมีสัญญาณการเร่งตัวของเงินเฟ้อโลก หรือท่าทีของทางการไทยต่อการดูแลค่าเงินบาทเป็นไปในลักษณะแข็งกร้าวมากขึ้น

น.ส.รุ่ง กล่าวว่า สำหรับทั้งปี 61 ประเมินกรอบเงินบาทไว้ที่ 31.25 - 33.25 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างทางเงินบาทจะผันผวนตามความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินและการคลังของกลุ่มเศรษฐกิจหลัก นำโดยสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน พร้อมคาดว่า ณ สิ้นปีค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 31.75 - 32.00 บาท/ดอลลาร์

ในสภาวะที่เงินบาทแข็งค่านี้ จะทำให้ผู้ส่งออกโดยเฉพาะธุรกิจเกษตรซึ่งใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักตั้งราคาขายได้ลำบาก หากไม่ทำการป้องการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้า (import content) สูง จะสามารถลดต้นทุนจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงเพื่อชดเชยผลกระทบด้านรายได้จากการขายสินค้าได้บางส่วน

โดยในปี 60 เงินบาทแข็งค่าไปกว่า 9% ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มสกุลเงินเอเชีย แต่ยอดส่งออกของไทยกลับเติบโตได้เป็นตัวเลขสองหลัก ท่ามกลางอานิสงค์จากการค้าโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ฟื้นตัว

"จังหวะที่เงินบาทแข็งค่านี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและอาจเป็นโอกาสให้นำเข้าเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรต่างๆ เพื่อยกระดับการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และช่วยลดต้นทุน ซึ่งนอกจากการป้องกันความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอแล้ว ผู้ประกอบการอาจพิจารณาใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้ามากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งแนวทางนี้ธนาคารฯ และธปท.ได้สนับสนุนมาโดยตลอด" น.ส.รุ่งกล่าว

*TMB มองบาทแข็งค่าต่อแต่เชื่อไม่หลุด 31.00 ทิศทางยังสอดคล้องสกุลเงินอื่น

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวกับ "อินโฟเควสท์" ว่า หากพิจารณาจากดัชนีค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า (NEER) แล้ว จะพบว่าเป็นการแข็งค่ามากสุดในรอบ 17 ปี และมองว่าแม้เงินบาทจะเคยแข็งค่าไปอยู่ในระดับ 29-30 บาท/ดอลลาร์ในช่วงปี 54-56

แต่ก็ยังเป็นการแข็งค่าในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ที่เป็นประเทศคู่ค้า ซึ่งแตกต่างจากในปัจจุบันที่เงินบาทของไทยแข็งค่านำสกุลเงินของประเทศในภูมิภาคไปค่อนข้างมาก โดยมีการประเมินว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไปทุก 10% เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า จะทำให้ผู้ส่งออกไทยมีรายได้ที่แปลงเป็นเงินบาทแล้วลดลงราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อการส่งออกค่อนข้างมาก

นายนริศ ระบุว่า แม้การส่งออกของไทยในปี 60 จะเติบโตได้อย่างสดใสที่ระดับ 9.9% จากภาวะการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ธุรกิจส่งออกกลับต้องรับมือกับการแข็งค่าของเงินบาทที่ปรับตัวอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ต้นปี 60 ที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 35.80 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์ในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากต้นปี 60 ถึง 12%

ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลต่อรายได้ธุรกิจมากหรือน้อย ขึ้นกับสัดส่วนการพึ่งพารายได้จากการส่งออก และสัดส่วนต้นทุนรายจ่ายว่าเกิดจากการซื้อในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศ โดยสามารถแบ่งระดับผลกระทบได้ 3 กลุ่มหลัก คือ

1.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางลบ คือ ธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก เช่น ผลิตภัณฑ์ยางพารา,มันสำปะหลัง,ข้าว,อาหาร,อัญมณีและเครื่องประดับ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทย 80%

2.กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ คือ ธุรกิจขายในประเทศและนำเข้าวัตถุดิบเป็นหลัก เช่น ผู้ค้าเครื่องจักรและชิ้นส่วน, สินค้าอุปโภคบริโภค,ผู้ค้าเหล็ก,เครื่องใช้ไฟฟ้า,ยาและเวชภัณฑ์ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการต่างชาติ 60%

และ 3.กลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออก แต่ใช้วัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก ซึ่งสามารถป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วยลักษณะของตัวธุรกิจเอง เช่น กลุ่มผู้ผลิตถรถยนต์,อิเล็กทรอนิกส์,คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน,เคมีภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการต่างชาติ

นายนริศ มองว่า ทิศทางของเงินบาทยังมีโอกาสจะแข็งค่าได้ต่อ แต่เชื่อว่าในปีนี้คงไม่หลุดไปจากระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ เพราะดอลลาร์สหรัฐไม่น่าจะอ่อนค่าไปมากกว่านี้แล้ว แม้ปัจจุบันการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐจะมาจากหลายปัจจัยที่เข้ามากดดัน โดยเฉพาะความไม่มั่นคงทางการเมือง ตลอดจนความเชื่อมั่นที่ลดลงจากกรณีการปิดบางหน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐชั่วคราว ทั้งนี้ แนวโน้มของเงินดอลลาร์มีโอกาสจะกลับมาแข็งค่าได้จากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2-3 ครั้งภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนไหลกลับเข้าไปยังฝั่งสหรัฐ

"ที่ผ่านมา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าไปค่อนข้างมากแล้ว และไม่น่าจะอ่อนค่าไปมากกว่านี้หากไม่มีสถานการณ์อะไรแรงๆ ที่เข้ามากระทบ ซึ่งในปีนี้เฟดเองก็เตรียมจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ก็น่าจะทำให้มี flow กลับเข้าไปในตลาดสหรัฐ" นายนริศกล่าว

โดย TMB Analytics ประเมินว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 61 จะอยู่ที่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์ จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากรายได้การส่งออกและการท่องเที่ยว อีกทั้งได้รับแรงหนุนจากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวมถึงเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทย ดังนั้นผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ควรมองหาเครื่องมือที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงของค่าเงิน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทิศทางเงินบาทแข็งค่า รักษาความสามารถในการทำกำไร และพยุงความสามารถการแข่งขันในตลาดไว้

*SCB ประเมินเงินบาททั่งปีผันผวน ให้กรอบกว้าง 32.00-33.00

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า ในไตรมาสแรกของปี 61 เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.50-33.00 บาท/ดอลลาร์ มาจากปัจจัยสำคัญ คือ 1.การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจปรับลดลงเล็กน้อย 2.การที่ Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 3 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป จึงคาดการณ์ได้ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะแคบลงกว่าระดับปัจจุบัน ทำให้เงินทุนเริ่มไหลกลับไปสู่ประเทศเศรษฐกิจหลัก 3.อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยมีแนวโน้มลดลงจากอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะถัดไป ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินของไทยลดลง ความต้องการถือเงินบาทจึงเบาบางลงได้

ส่วนในช่วงสิ้นปี 61 นั้นมองว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 32.00-33.00 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากแนวโน้มการลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ยังคงมีอยู่ ทำให้ดัชนีราคาหุ้นขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ โดยเงินทุนเคลื่อนย้ายยังไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย 2.ผลิตภาพแรงงานไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าสหรัฐ จากอัตราการขยายตัวของ GDP ที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ ทั้งนี้ เงินบาทคงจะไม่แข็งค่าขึ้นมาก เนื่องจากยังมีปัจจัยสนับสนุนในด้านอ่อนค่า เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจชะลอลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ

SCB EIC มองว่าทิศทางของค่าเงินบาทในระยะต่อไปยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ซึ่งขึ้นกับปัจจัยเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ จึงให้ scenarios ที่อาจเกิดขึ้นดังนี้ กรณีแรก เงินบาทอาจอ่อนค่าลงไปมากสุดที่ระดับ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ หากสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด ขณะที่อุปสงค์โลกและการลงทุนซบเซาลง กรณีที่สอง เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นไปได้มากที่สุดที่ระดับ 31.50-32.00 บาท/ดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ จากการที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นสูง ทำให้มีเงินลงทุนไหลเข้ามาในภูมิภาครวมถึงไทยมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ