“เรือด่วนเจ้าพระยา"ปรับบทบาทเป็น Feeder ต่อเนื่องระบบรางเพิ่มความสะดวกฝในการเดินทาง ด้วยการจัดระบบเดินเรือ 6 ท่าเรือด่วนเชื่อมต่อรถไฟฟ้า เตรียมลงทุนต่อเรือใหม่อย่างน้อย 40 ลำ เฟสแรก 5-6 ลำ ใช้เงินลงทุนราว 150 ล้านบาทในปี 60-61 พร้อมยื่นเสนอพัฒนาท่าเรือให้ทันสมัยปลอดภัย 19 ท่าใช้ตั๋วร่วมหรือ e-Ticket รอกรมเจ้าท่าไฟเขียวทั้งอัตราค่าโดยสารใหม่และแผนพัฒนาท่าเรือก่อนเดินหน้า คาดปี 62 จะพลิกโฉมเดินทางด้วยเรือด่วน
น.ต.เจริญพร เจิรญธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ผู้ให้บริการเรือด่วนเจ้าพระยา ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ว่า จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานทำให้การเดินทางโดยรถไฟฟ้ามีความนิยมมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาพรวมจำนวนผู้โดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาลดลงจากในอดีต บริษัทจึงตัดสินใจปรับบทบาทบริการเรือด่วนเจ้าพระยาให้มีรูปแบบเป็น Feeder ของการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างเรือด่วนและรถไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนทำงาน
ทั้งนี้ เห็นได้จากการเชื่อมระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีสาทร และต่อด้วยเรือด่วนเจ้าพระยาที่ท่าน้ำสาทร มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จากก่อนหน้ามีผู้ใช้บริการเพียง 1,500 คน/วันสำหรับท่าเรือสาทร แต่เมื่อมีรถไฟฟ้าบีทีเอสเชื่อมต่อการเดินทางทำให้จำนวนผู้โดยสารขยับขึ้นมาที่ 8,000 คน/วัน และเมื่อรถไฟฟ้าบีทีเอสมีส่วนต่อขยายไปทางฝั่งธน ที่ขยายไปถึงสถานีบางหว้า ทำให้จำนวนผู้โดยสารของเรือด่วนเจ่าพระยาในท่าเรือสาทร เพิ่มขึ้นมาที่ 13,000 -14,000 คน/วัน ในปัจจุบัน "เป็นการพิสูจน์ว่า ระบบขนส่งโดยสารหากมีการเชื่อมต่ออย่างดีจะเพิ่มศักยภาพระบบขนส่งผู้โดยสาร เราก็มองว่าจากเดิมเรือวิ่งยาว สาทร-ท่าน้ำนนท์ แต่เมื่อมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านภาพจะเปลี่ยนไป ดังนั้นอนาคตเราจะเปลี่ยนตัวเราเองเป็น Feeder ให้กับรถไฟฟ้า เราไม่ได้มองว่ารถไฟฟ้ามาแย่งคนจากเรา เรามองว่าส่งคนให้กับรถไฟฟ้า ดังนั้น การเดินเรือจะเป็น loop ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงการเดินรถแบบใหม่ เดินเป็น loop ให้รองรับความถี่รถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นให้เหมาะสมกับรถไฟฟ้า"กรรมการผู้จัดการ เรือด่วนเจ้าพระยา กล่าว ระบบรางอนาคตจะพาดผ่านแม่น้ำราว 4-5 จุด ตั้งแต่ด้านเหนือ 1.)ท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้า ที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน โดยระหว่างนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังทำท่าเรือ ขณะที่รถไฟฟ้าดำเนินการเสร็จแล้วทำให้การเชื่อมต่อยังไม่สัมฤทธิ์ผล จนเรือด่วนเจ้าพระยาไปขอเข้าไปทำกับกระทรวงคมนาคม แต่แล้วสรุปให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการท่าเรือพระนั่งเกล้าที่เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วง ขณะนี้อยู่ขั้นตอนสรรหาบริษัทรับเหมาก่อสร้าง 2.) ท่าเรือสะพานพระราม 7 จะเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยรถไฟฟ้าสายสีแดงจะเปิดให้บริการปี 63 3.) ท่าเรือบางโพ จะเชื่อมสถานีของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระซึ่งสถานีรถไฟฟ้าอยู่ติดท่าเรือบางโพ เหมือนท่าเรือสาทร จะเปิดให้บริการปี 62 4.) ท่าเรือปิ่นเกล้า จะมีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-สุวินทวงศ์ ผ่านตรงโรงละครแห่งชาติ 5.) ท่าเรือราชินี ติดสถานีสนามไชยของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค เปิดให้บริการปลายปี 61 ซึ่งตรงนี้อยู่ติดกันคล้ายท่าเรือสาทร และ 6.)ท่าเรือสาทร ซึ่งปัจจุบันเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า
ถ้าทำให้การเชื่อมต่อรถ ราง เรือ ก็น่าจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร ให้กับทางเรือและระบบขนส่งอื่นด้วย จึงต้องมีการปรับปรุงตัวเรือและท่าเรือ จะทำเส้นทางเดินเรือใหม่ให้วิ่งเป็น loop หรือวิ่งเป็นวงแหวน เพื่อรองรับผู้โดยสารที่มาจากรถไฟฟ้าในแต่ละสถานีได้ทันและจะเพิ่มความถี่มากขึ้นโดย จะไม่วิ่งยาวตลอดเส้นเหมือนปัจจุบันที่ใช้เวลาวิ่ง 1.00-1.20 ชั่วโมงต่อเที่ยว
น.ต.เจริญพร กล่าวว่า บริษัทจึงได้มีแผนพัฒนากองเรือใหม่ จำนวน 40-50 ลำ ภายใน 8 ปี บริษัทจะต่อเรือเองที่มีอู่เรือที่อยุธยา ซึ่งได้ว่าจ้าง บริษัท โกลบอล มารีน ดีไซน์ จำกัด จากออสเตรเลีย ออกแบบตัวเรือรวมทั้งซึ้อเครื่องยนต์ เกียร์ อลูมิเนียมนำเข้ามาประกอบเองที่มีเครื่องยนต์ 2 เครื่อง โดยเฟสแรกได้เริ่มต่อเรือจำนวน 6 ลำ ลงทุน รวมประมาณ 150 ล้านบาท
เรือชุดใหม่จะใช้อลูมิเนียมเป็นวัสดุหลักในการต่อเรือ โดยขยายลำตัวเรือให้กว้างขึ้นและยาวขึ้นกว่าเดิมเพื่อจุผู้โดยสารให้มากขึ้นเป็น 200 คน (ที่นั่ง 150 ที่นั่ง) ซึ่งจะเป็นเรือปรับอากาศ ความเร็ว 30 กม./ชั่วโมง หรือ 18 น๊อต/ชม. เร็วขึ้นกว่าเรือปัจจุบันที่ใช้ความเร็ว 20 กม./ชม.หรือ 12 น๊อต/ชม.และมีระบบ GPS ติดตั้งภายในเรือ คาดว่าจะเริ่มนำออกมาให้บริการในไตรมาส 2/62 เพื่อเพิ่มความถี่มากขึ้น
จากปัจจุบัน บริษัทมีเรือที่ใช้วัสดุหลักเป็นไม้ จำนวน 59 ลำเป็นเรือเก่า นำมาใช้วิ่งรับส่งผู้โดยสาร 45 ลำ ที่เหลือนำไปปรับปรุงซ่อมใหญ่ เรือเก่าจุผู้โดยสารได้ 150 คน จำนวน 180 เที่ยว/วัน โดยระหว่างที่มีการต่อเรือใหม่ บริษัทจะทยอยขายเรือเก่าออกไป ทั้งนี้ เมื่อบริษัทต่อเรือใหม่ได้ครบแล้วภายใน 8 ปีนี้จะไม่นำเรือเก่าออกมวิ่งให้บริการอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี อัตราค่าโดยสารเรือด่วนปัจจุบันถูกควบคุมโดยกรมเจ้าท่า บริษัทจึงทำหนังสือยื่นขอปรับอัตราค่าโดยสารสำหรับเรือต่อใหม่ ซึ่งจะมีต้นทุนการดำเนินการที่เพิ่มขึ้น โดยเสนออัตราเริ่มต้นที่ 15 บาท/เที่ยวแต่ไม่เกิน 40 บาท/เที่ยว ซึ่งกรมเจ้าท่าได้รับไปพิจารณาแล้ว คาดว่าจะรู้ผลในเดือน ก.พ. 61 หากได้รับอนุมัติจะเริ่มดำเนินกาต่อเรือ ในเดือน มิ.ย. 61 ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือนในการต่อเรือ 1 ลำ
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ยื่นข้อเสนอพัฒนาท่าเรือต่อกระทรวงคมนาคม โดยรูปแบบท่าเรือใหม่จะเป็นระบบปิด มีพื้นที่พักคอย มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด และติดตั้งเครื่องใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมีจอทีวีเพื่อรับส่งสัญญาณให้รับรู้ว่าเรือกำลังจะถึงท่าเรือ ซึ่งบริษัทเสนอพัฒนาท่าเรือใหม่ 19 ท่าจากทั้งหมดที่มี 39 ท่า ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ในฐานะเป็นควบคุมดูแล และกรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของพื้นที่จะหารือกัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้และใช้เวลาพัฒนา 6 เดือน ประเมินเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท/ท่าเรือ คาดว่าปีนี้จะใช้ส่วนนี้ราว 50 ล้านบาท
ดังนั้น คาดว่าปี 60-61 บริษัทจะใช้เงินลงทุนต่อเรือใหม่ 6 ลำ จำนวน 120 ล้านบาท ซึ่งปีนี้ใช้ 50 ล้านบาทก่อน และพัฒนาท่าเรือ 50 ล้านบาท รวมประมาณ 170 ล้านบาท
"หากภาครัฐเห็นด้วยทั้งอัตราค่าโดยสารและการพัฒนาท่าเรือแล้ว คาดว่าปี 62 เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งท่าเรือ และเรือ แต่ขณะนี้ต้องรอนโยบายภาครัฐเท่านั้น"น.ต.เจริญพร กล่าว