นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ส่งผลให้เงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาครวมทั้งเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่ง ธปท.กังวลว่าหากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ ธปท.จึงจะยกระดับการดูแลและเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพร้อมทบทวนมาตรการเพิ่มเติมหากเห็นการเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างผิดปกติ "อยากเตือนผู้ประกอบการว่า บางครั้งที่มองว่าบาทแข็ง เราคิดว่าเป็นปัญหาเฉพาะภายในประเทศของเรา แต่ค่าเงินเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ เรื่องดอลลาร์ที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุล สำคัญ ซึ่งเราก็จะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป" ผู้ว่า ธปท. กล่าว
พร้อมระบุว่า หากพบการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่ผิดปกติ ธปท.ก็พร้อมจะทบทวนมาตรการป้องปรามต่างๆ ที่มีอยู่ รวมทั้งจะกำชับและกำกับดูแลสถาบันการเงินมากขึ้น เพราะเมื่อค่าเงินมีความผันผวนสูงจะมีการทำธุรกรรมที่หนาแน่น ซึ่งเมื่อมีธุรกรรมที่หนาแน่นก็จะมีการเก็งกำไรที่ไม่เป็นไปตามหลักการหรือวัตถุประสงค์ของมาตรการป้องปราม ธปท.จะติดตามสถาบันการเงินต่างๆ อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ และตรวจสอบอย่างเข้มข้นเป็นพิเศษด้วย
"ธปท. พร้อมจะทบทวนมาตรการป้องปราม หากเราพบว่ามีการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่ผิดปกติ หรือสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เราก็พร้อมจะทบทวน" ผู้ว่า ธปท. ระบุ
ผู้ว่า ธปท. ระบุว่า ในระยะข้างหน้าผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงค่าเงิน เพราะจะเห็นได้ชัดว่าเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศ การบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในยุคที่ค่าเงินมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งวิธีการที่ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจสามารถทำได้ เช่น การตั้งราคาสินค้าเป็นสกุลเงินของประเทศปลายทาง แทนที่จะตั้งราคาเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ
"ไทยส่งออกไปสหรัฐเพียงแค่ 10-11% เท่านั้น ที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นผู้ประกอบการไทยปรับตัวมากขึ้น เช่น ตั้งราคาเป็นเงินสกุลของประเทศปลายทาง เช่น ส่งไปยุโรปก็ใช้เงินยูโร ส่งไปญี่ปุ่นก็ใช้เงินเยน หรือส่งไปภูมิภาคก็ใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารความเสี่ยงในยุคที่จะมีความผันผวนมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสกุลดอลลาร์สหรัฐได้รับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจภายในประเทศ ดังนั้นการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากในช่วงนี้"