ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด FED ยังส่งสัญญาณขึ้นดบ.ในปีนี้อีก 3 ครั้งแม้คงดอกเบี้ยในการประชุมรอบแรก เพื่อลดผันผวนต่อตลาดเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 26, 2018 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.25-1.50% ในการประชุมนโยบายการเงินรอบแรกของปี 2561 เพื่อรอดูพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็น การผ่านร่างมาตรการปรับลดภาษี ตลอดจนทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ คงจะมีผลต่อมุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้ง พัฒนาการของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า ซึ่งเฟดคงจะรอติดตามพัฒนาการต่างๆ เหล่านี้อีกระยะ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจต่อการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

โดยเฟดยังคงอยู่ในวัฎจักรของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมมีโอกาสที่จะขยายตัวสูงกว่าที่เฟดประมาณการเดือนธันวาคม 2560 จากแรงหนุนของมาตรการปรับลดภาษี ขณะที่ทิศทางการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ รวมทั้ง ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงอาจจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับตัวของเงินเฟ้อ ซึ่งเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั้งจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเฟด (Core PCE) ที่ขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและระดับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวก็สามารถกลับมายืนเหนือระดับ 2% อีกครั้งตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา โดยปัจจัยดังกล่าวคงเปิดโอกาสให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในการประชุมรอบ มีนาคม 2561 อย่างเร็วที่สุด

ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป คงต้องติดตามคาดการณ์มุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟดอันใหม่ที่จะมีการเปิดเผยในการประชุมรอบมีนาคม 2561 ซึ่งคงจะสะท้อนมุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของปี 2561 มากขึ้น อย่างไรก็ดี เฟดน่าจะยังคงยืนยันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำนวน 3 ครั้งในปีนี้ ท่ามกลางพัฒนาการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจะมีทิศทางปรับดีขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงิน

ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงของคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่นางเยลเลน ก้าวลงจากตำแหน่งประธานเฟด และถูกแทนที่ด้วยนายโพเวลล์ รวมทั้ง การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนของประธานเฟดสาขา ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญในขณะนี้ แม้ว่าสมาชิกที่มีสิทธิในการออกเสียงของคณะกรรมการนโยบายการเงินจะมีองค์ประกอบของสมาชิกที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามการแต่งตั้งตำแหน่งของคณะกรรมการบริหาร(Board of Governors) ที่ว่างอยู่ 3 ที่นั่ง โดยเฉพาะผู้ที่จะมาเป็นรองประธานเฟดในอนาคตซึ่งจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนทิศทางของดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะต่อไป

สำหรับผลต่อประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในครั้งนี้ไม่น่าจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย ขณะที่ ปัจจัยที่กระทบต่อตลาดการเงินไทยในปัจจุบันมาจากประเด็นความเสี่ยงทางการเมืองสหรัฐฯ เป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินดอลาร์ฯ ยังมีทิศทางอ่อนค่าลงในช่วงนี้

อย่างไรก็ดี หากเฟดยังคงส่งสัญญาณถึงทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนมากขึ้น คงน่าจะช่วยบรรเทาการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ ไปได้บางส่วน ในส่วนของทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยคงทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตามการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ