พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า เราต้องสร้างสรรค์ “ไทยนิยม" ในสิ่งดีๆ ให้มากยิ่งขึ้นนะครับ ถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม รักความสงบ เหมือนในเพลงชาติไทยของเรา โดยเฉพาะในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ชาติไทย ระยะต่อจากนี้ไป มีความสำคัญมาก เพราะต่อกันมาทั้งหมด จากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เราต้องการอนาคตอย่างไร เราก็ต้องทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่ดี ประวัติศาสตร์ที่ดี ในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นระยะต่อจากนี้ไปมีความสำคัญกับพวกเราทุกคน ในสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับลูกหลานของเราในอนาคตด้วย เราต้องการการบริหารประเทศอย่างมีวิสัยทัศน์ เพื่อจะสร้างความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ให้กับบ้านเมือง เราจะต้องน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นมรดกของชาติ มาเป็นหลักคิดสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า “ประชารัฐ" และ “ไทยนิยม" นั้นก็จะมีความเชื่อมโยงกันอยู่เป็นเนื้อเดียวกัน “ไทยนิยม" จะเป็นกรอบใหญ่ของทั้งประเทศ คล้าย ๆ กับ “ยุทธศาสตร์ชาติ" ที่จะเป็นกรอบใหญ่ให้กับยุทธศาสตร์จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค ในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไก “ประชารัฐ" ทั้งนี้ หากเราสามารถสร้างความเข้มแข็ง เน้นการพึ่งพาตนเองได้ตั้งแต่ระดับฐานรากแล้ว ก็จะนำมาสู่ความสำเร็จในภาพรวมของประเทศได้ในที่สุด ผมอยากให้คนไทยเข้าใจคำว่า ไทยนิยม ประชารัฐ ยั่งยืน 3 คำมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งหมด
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า การพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัล ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0" นั้น เราจะต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ในมิติวัฒนธรรม ความเป็นไทย ตามหลักคิด “ไทยนิยม" ที่ได้กล่าวไปแล้ว และโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของประเทศไปพร้อม ๆ กันด้วย อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงาน ชลประทาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเทศของเรานั้นไม่ได้ร่ำรวยมากนัก จนสามารถเนรมิต หรือลงทุน ทุกอย่างได้ ตามที่เราต้องการในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ มีการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ปัจจุบันแม้เราจะกำหนดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแล้ว (SEZ) ไว้ทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 10 แห่ง แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะเริ่มดำเนินการได้พร้อม ๆ กัน เนื่องจากติดขัดในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งกฎหมาย ทั้งงบประมาณ ทั้งความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ความเข้าใจ บางท่านอาจจะไม่เข้าใจ ยังมองภาพความสำเร็จไม่ออก เพราะทุกคนก็เคยชินอยู่กับการทำวันนี้ ให้ได้พรุ่งนี้นะครับ บางทีหลายอย่างต้องใช้ระยะเวลา ก็ยังมองไม่ค่อยออกกัน เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คสช. และทุกหน่วยงานนะครับ ในการที่จะ “สาธิต" ให้เห็นภาพอนาคต ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ บนพื้นที่ที่มีศักยภาพเดิม คือระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพราะว่าเมื่อสามารถทำได้สำเร็จ จะไม่เพียงแค่ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเท่านั้น แต่ยุทธศาสตร์ขั้นต่อไป คือ การขยายผลในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 10 แห่ง ในวันข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศครั้งยิ่งใหญ่ และเป็นก้าวย่างที่สำคัญของชาติ ข้าม “กับดัก" ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และการพัฒนาที่ไม่สมดุล สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผมจึงอยากวาดภาพอนาคต และความเป็นไปได้ให้ทุกคนได้เห็น ว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนโครงการ EEC อย่างไร โดยแผนปฏิบัติการลงทุน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 หรือระยะเร่งด่วนนะครับ ระหว่างปี 2560 ถึง 2561 ที่ต้องดำเนินการทันที เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจภายใน EEC ให้มีการลงทุนจากในประเทศ และต่างประเทศ
ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 เป็นแผนงานต่อเนื่อง เพื่อให้โครงข่ายการขนส่งสามารถรองรับกิจการทางเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้น และขยายกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และระยะต่อไป เริ่มตั้งแต่ปี 2565 ก็จะเป็นแผนงานเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน เพื่อจะเพิ่มรายได้ของประเทศ ให้กับประชาชนทุกระดับ ทุกฝ่าย รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพิ่มมูลค่าอีกด้วย ทั้งนี้ จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ และ โลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
(1) มอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด, แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี และชลบุรี-อ.แกลง จ.ระยอง รวมทั้งการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง การเพิ่มโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง
(2) รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 ท่าอากาศยาน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) รถไฟทางคู่ ช่วงแหลมฉบัง-มาบตาพุด รถไฟ ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด และ รถไฟเชื่อม EEC-ทวาย-กัมพูชา รวมทั้ง สถานีบรรจุและยกสินค้ากล่อง จ.ฉะเชิงเทรา
(3) ท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุด เฟสที่ 3 และ อากาศยานผู้โดยสาร ท่าเรือ จุกเสม็ด
(4) การยกระดับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา อาทิ การสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ทางวิ่งที่ 2 พื้นที่ขนส่งสินค้าทางอากาศ เขตปลอดอากร (Free Zone) และอาคารผู้โดยสารหลัง ที่ 3 ตามลำดับ
สำหรับการจัดหาแหล่งวงเงินลงทุน เบื้องต้นนั้นประมาณ 1 ล้านล้านบาท จากงบประมาณแผ่นดิน 30% เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 10% รัฐและเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 59% และ กองทุนหมุนเวียน จากกองทัพเรือ 1% ผลที่คาดว่าจะได้รับ อาทิ ใน 5 ปีแรก จะเกิดฐานเทคโนโลยีใหม่ของประเทศและ เกิดการพัฒนาคน ทำให้รายได้ประชาชาติ “ขยายตัว" ไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มเติมช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้กว่า 2.1 - 3.0 ล้านล้านบาท จะมีการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนคุณภาพสูงมากขึ้น ปริมาณการเดินทาง และขนส่งสินค้าใน EEC มากขึ้น สามารถจะลดต้นทุนของรถบรรทุกได้ ประมาณ 35.6 ล้านบาทต่อวัน ลดต้นทุนรถไฟได้ ประมาณ 2.3 แสนบาทต่อวัน รวมทั้ง ลดระยะเวลาการเดินทางลงได้อีกด้วย นอกจากนี้ จะเป็นการสนับสนุนให้ EEC เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมเพื่อนบ้าน - CLMV - และ อาเซียนทั้งหมด อย่างสมบูรณ์