นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดี รักษาราชการอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ภายใต้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เพื่อทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการแห่งชาติของไทยด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (National Committee on Trade Facilitation หรือ NCTF) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า ขององค์การการค้าโลก (WTO) และของอาเซียนของไทย รวมทั้งเสนอนโยบายและมาตรการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อลดความซับซ้อนและปรับปรุงกระบวนการส่งออก/นำเข้าที่เป็นอุปสรรคต่อการค้านั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ม.ค.61 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน NCTF ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ของไทยด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าแล้ว โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นเลขานุการ และมีผู้แทนจากกรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ร่วมเป็นคณะทำงาน
ทั้งนี้ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าของ WTO มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.พ.60 ซึ่งไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปรับมาตรการทางการค้าต่าง ๆ ให้อำนวยความสะดวกทางการค้ามากขึ้น โดยมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันทีในวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ เช่น การเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีช่องทางในการแสดงความเห็น การสร้างวินัยในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิธีการทางศุลกากร การส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ในพิธีการนำเข้า/ส่งออกและผ่านแดน และการมีมาตรการส่งเสริมความรวดเร็วในกระบวนการตรวจปล่อยสินค้า
ส่วนมาตรการที่ไทยขอระยะเวลาการปรับตัว 2 ปี เช่น การจัดทำระบบตรวจปล่อยสินค้าล่วงหน้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรการที่ไทยขอระยะเวลาปรับตัว 7 ปี เช่น การมีกระบวนการทดสอบที่จะเปิดโอกาสให้มีการขอทดสอบครั้งที่สอง ดังนั้น คณะทำงานฯ ที่ตั้งขึ้นนี้จะทำหน้าที่ติดตามการดำเนินการเตรียมปรับตัวของหน่วยงานไทยว่าเป็นไปตามกำหนดหรือไม่ หรือมีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไร
นางอรมน กล่าวเสริมว่า นอกจากไทยจะมีข้อผูกพันด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าในกรอบ WTO แล้ว ยังมีข้อผูกพันในกรอบอาเซียน โดยคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อปลายปี 2560 ได้ให้ความเห็นชอบ "แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน" ช่วงปี 2560-2568 มีเป้าหมาย คือ 1.ลดต้นทุนธุรกรรมทางการค้าภายในภูมิภาคลง 10% ภายในปี 2563 2.เพิ่มการค้าภายในภูมิภาคเป็น 2 เท่าภายในปี 2568 และ 3.ให้ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในระดับโลกดีขึ้น ดังนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อาเซียนได้ร่วมกันกำหนดมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น เร่งดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าของ WTO พัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) พัฒนาและเชื่อมโยงระบบคลังข้อมูลการค้าอาเซียนให้สมบูรณ์ พัฒนาระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน โดยนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้กับการดำเนินพิธีการศุลกากรผ่านแดนอาเซียน ไม่ใช้บุคคลในการดำเนินการด้านเอกสาร และเร่งสรุปการเจรจาจัดทำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification) ให้เป็นระบบเดียวกันของอาเซียนให้เสร็จสิ้นภายในปี 2561 เป็นต้น ซึ่งขณะนี้อาเซียนรวมถึงไทยอยู่ระหว่างจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยมีความคืบหน้าไปแล้วหลายส่วน เช่น 1.โครงการนำร่องระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification) ของอาเซียน โครงการที่ 1 (ระหว่าง 6 ประเทศสมาชิก ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา บรูไน เมียนมาร์ ไทย) และโครงการที่ 2 (ระหว่าง 5 ประเทศสมาชิก ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม และไทย) 2.การใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) ระหว่างอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 ซึ่งดำเนินการโดยกรมศุลกากรและกรมการค้าต่างประเทศ และ 3.การปรับปรุงคลังข้อมูลทางการค้าระดับประเทศ (NTR) ของไทย (www.thailandntr.com) โดยรวบรวมมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงข้อมูลในระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดำเนินการโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในฐานะเลขานุการคณะทำงานติดตามการดำเนินการของไทยด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า จะติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันได้ภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการค้าลงได้ตามเป้าหมาย