นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ประจำเดือน ม.ค.61 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) อยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหลายภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 93.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคการลงทุน เนื่องจากความคืบหน้าของนโยบายภาครัฐด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ประกอบกับมีการลงทุนใหม่ด้านอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและมีการขยายธุรกิจมากขึ้นในจังหวัดสระบุรี อีกทั้งได้รับอานิสงส์จากโครงการกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ ส่งผลให้ดัชนีแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมของภูมิภาค ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 96.6
ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 92.9 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีค่าดัชนีแนวโน้มอยู่ที่ 99.8 ประกอบกับสถานการณ์การลงทุนภายในภูมิภาคที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น อีกทั้งมีนักลงทุนรายใหม่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในจังหวัดปราจีนบุรี จากเดิมในเดือนก่อนหน้าที่พบว่านักลงทุนรายใหม่สนใจเพียงในเขตพื้นที่โครงการ EEC
เช่นเดียวกับภาคการผลิตของภาคเหนือที่มีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการขยายโรงงานในหลายพื้นที่ เช่น เพชรบูรณ์ ลำปาง เป็นต้น อีกทั้งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นต้น รวมถึงแนวโน้มภาคเกษตร ยังคงส่งสัญญาณที่ดี ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 96.7 ตามสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูก ซึ่งคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 91.2
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 84.5 จากดัชนีแนวโน้มที่ดีขึ้นของภาคบริการในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะได้รับผลดีจากมาตรการลดหย่อนภาษีเขตเมืองรองที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 18 จังหวัดของภูมิภาค อีกทั้ง สาขาค้าปลีกค้าส่งยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงดัชนีแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 93.1 เนื่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในแต่ละจังหวัด
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ 79.8 ตามแรงสนับสนุนจากแนวโน้มที่ดีของภาคบริการ โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวที่จะได้รับอานิสงส์จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว อีกทั้งบริเวณด่านชายแดนในจังหวัดกาญจนบุรียังคงคึกคัก สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและเมียนมาร์ได้ รวมถึงค้าส่งค้าปลีกที่มีแนวโน้มสดใส จากการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐส่งผลให้ดัชนีแนวโน้มภาคบริการอยู่ในระดับที่ดีที่ 83.8 ประกอบกับแนวโน้มที่ดีในภาคการลงทุน เนื่องจากมีการลงทุนใหม่ตามสถานที่ท่องเที่ยวภายในจังหวัดราชบุรี ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑล อยู่ที่ 73.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามดัชนีแนวโน้มในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 84.3 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและเครื่องหนัง ประกอบกับ ดัชนีแนวโน้มภาคบริการ อยู่ที่ 71.8 โดยเฉพาะสาขาค้าปลีกและการเงินการธนาคาร
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 68.7 จากดัชนีแนวโน้มในภาคการจ้างงานภายในภูมิภาค ส่งสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง อยู่ที่ 85.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมและบริการ เป็นสำคัญ