BAY คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.15-31.50 จับตามาตรการ ธปท.หลังบาทแข็งค่าสุดรอบ 50 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 29, 2018 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15-31.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.34 บาท/ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วและแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 50 เดือน ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยด้วยมูลค่า 4.1 พันล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 2.5 พันล้านบาท ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ โดยเงินยูโรปรับตัวสู่ระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 3 ปี หลังรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ส่งสัญญาณอาจใช้นโยบายดอลลาร์อ่อน อย่างไรก็ตาม ช่วงท้ายสัปดาห์ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ กล่าวสนับสนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าซึ่งสวนทางกับความเห็นของ รมว.คลัง ส่วนธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คงนโยบายการเงินตามคาด โดยระบุถึงข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนที่แข็งแกร่งและเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยับขึ้นในระยะกลาง

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ปัจจัยชี้นำสำคัญสำหรับตลาดการเงินโลกอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 30-31 มกราคม ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้ายของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่งจะสิ้นสุดในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ แม้ตลาดคาดว่าจะยังไม่มีการปรับนโยบายในรอบนี้ แต่จะจับตาสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม นอกจากนี้นักลงทุนจะให้ความสนใจกับข้อมูลการจ้างงานเดือนมกราคมของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเติบโตของค่าจ้างเพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อ และทิศทางดอกเบี้ยในระยะถัดไป อนึ่งความไม่แน่นอนเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของสหรัฐฯ รวมถึงการเปิดฉากสงครามการค้ายังคงจำกัดการฟื้นตัวของค่าเงินดอลลาร์และเพิ่มความผันผวนให้กับตลาด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความกังวลว่าหากเงินบาทยังแข็งค่ารวดเร็วและต่อเนื่องอาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ โดย ธปท.จะยกระดับการดูแลและเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2561 เงินบาทปรับตัวแข็งค่าเร็วกว่าที่เราเคยประเมินไว้มากซึ่งเป็นผลมาจากเงินดอลลาร์ในตลาดโลกเผชิญแรงขายเทียบกับสกุลเงินหลักอย่างต่อเนื่อง ท่าทีล่าสุดของทางการไทยที่แข็งกร้าวมากขึ้นเกี่ยวกับค่าเงินบาทอาจชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง ขณะที่ตลาดมีความระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับสัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ว่าอาจมีการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย อย่างไรก็ดีกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่ามาตรการมีหลายระดับและมีข้อดีและความเสี่ยงต่างกันไป ซึ่งเชื่อว่าธปท.ย่อมศึกษาถึงประสิทธิผลของเครื่องมือต่างๆ อย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ