นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีฯ รักษาการอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการที่ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อปี 2548 เป็นต้นมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ม.ค.61 ไทยและจีนต่างได้ลดภาษีศุลกากรสินค้าล็อตสุดท้ายที่ยังไม่ได้ลดภาษีให้กันลงเหลือร้อยละ 0 – 5 โดยสินค้าสุดท้ายที่จีนได้ลดภาษีให้ไทยเหลือ 0-5% ประมาณ 286 รายการ (พิกัดศุลกากร 8 หลัก) ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ภาษีเดิมอยู่ที่ร้อยละ 15 -20 เช่น กาแฟ พริกไทย ข้าวหัก แป้งข้าวเจ้า ลำไย สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งมีสินค้าหลายรายการที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทย ที่ผู้ประกอบการสามารถใช้โอกาสนี้เร่งเพิ่มการส่งออกสินค้าไปจีน
นางอรมน กล่าวว่า เพื่อสร้างการรับรู้ของผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์เต็มที่จากการเปิดเสรีล็อตสุดท้ายดังกล่าว กรมฯ ได้จัดประชุมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทยได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว ซึ่งภาคเอกชนเห็นพ้องว่าการลดภาษีของจีนดังกล่าว จะช่วยสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการไทยในการแข่งขันในตลาดจีน
นับตั้งแต่ FTA อาเซียน-จีน มีผลบังคับใช้เมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปจีนมูลค่าเพิ่มขึ้น 61% จาก 9.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2549 เป็น 23.58 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 โดยสินค้าที่ไทยใช้ประโยชน์จากการลดภาษีของจีน เช่น ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาสถิติการค้าระหว่างสองประเทศในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ยังมีสินค้าที่จีนลดภาษีเป็นศูนย์ให้ไทยแล้วตั้งแต่ปี 2553 แต่ยังส่งออกไปจีนไม่มากนัก เช่น ปลาและกุ้งแช่แข็ง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผัก/ผลไม้แปรรูป ซอสปรุงรส เป็นต้น จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการไทยเร่งใช้ประโยชน์จากการที่จีนลดภาษีให้ไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ สินค้าล็อตสุดท้ายที่ไทยได้ลดภาษีศุลกากรให้จีนเหลือ 0-5% ตามที่ระบุในความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน เช่น แป้งข้าวสาลี มะเขือเทศบด หินอ่อน/หินแกรนิต ซีเมนต์ สีย้อม/สีทามอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งมีทั้งวัตถุดิบที่การลดภาษีจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตให้กับผู้ประกอบการไทยได้ เช่น กระเปาะแก้วสำหรับหลอดไฟ เครื่องเพชรพลอยรูปพรรณของเทียมสำหรับทำเครื่องประดับ รวมทั้งที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น ยางรถยนต์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามผลการเปิดเสรีสินค้าล็อตสุดท้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งหารือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้รับทราบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและจัดหามาตรการเยียวยาได้ทันท่วงที