สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 61 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.2% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.7-4.7%) จากปี 60 ที่ขยายตัวราว 4.0% สูงกว่าคาดการณ์ทั้งปี 60 และ 61 เติบโตที่ระดับ 3.8%
สศค.มองว่าเศรษฐกิจปีนี้มีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญตามกรอบรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ พ.ร.บ.จัดทำงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฎิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 59 และ ปี 60 ที่คาดว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่เริ่มเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างได้มากขึ้นในปี 61 รวมทั้งสัญญาณเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สศค. ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 61 เพิ่มขึ้นเป็น 4.2% (กรอบ 3.7-4.7%) จากก่อนหน้านี้ที่เคยประมาณการไว้ที่ระดับ 3.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 60 ที่ GDP เติบโตได้ในระดับ 4% โดยเป็นการแตะระดับ 4% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 56 ที่ GDP เติบโตได้ 2.7% ทั้งนี้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 61 มาจากแรงขับเคลื่อนหลักที่สำคัญคือการใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ? 2561 รวมทั้งการจัดทำงบประมาณกลางปี 2561 อีก 1.5 แสนล้านบาท และความคืบหน้าในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สำคัญของภาครัฐ ขณะที่สัญญาณการจัดการเลือกตั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี หากแม้การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องเลื่อนออกไปจากปลายปี 61 สศค.มองว่าจะไม่กระทบต่อการเติบโตของ GDP ในปีนี้ เพราะเชื่อว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปได้ "การเลื่อนเลือกตั้งออกไป ไม่ได้มองว่าจะมีผลกระทบอะไรมาก เพราะเลื่อนไปแค่ 3 เดือน ปัจจัยตัวอื่นๆ ก็ยังสามารถผลักดันเศรษฐกิจต่อไปได้...วันที่มีการพูดว่าการเลือกตั้งอาจเลื่อนออกไป 3 เดือนนั้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยก็ปรับลดลงเพียงเล็กน้อย และหลังจากนั้นก็กลับขึ้นไปเป็นปกติ ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนยังมีความเชื่อมั่น และมองว่าการเลือกตั้งหากจะเลื่อนออกไปก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก" โฆษกกระทรวงการคลังระบุ ทั้งนี้ การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 61 เพิ่มขึ้นเป็น 4.2% นั้น เป็นผลจากที่ สศค.ได้มีการปรับสมมติฐานที่สำคัญดังนี้ 1.อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ล่าสุดได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.83% จากเดิมที่คาดไว้ 3.59% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญหลายประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งเป็นผลมาจากแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฏิรูปภาษี และโครงสร้างการลงทุนของภาครัฐ แม้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าบางส่วนจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อน เช่น จีน, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ยูโรโซน, ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร โดยในส่วนของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะชะลอตัวลงในปีนี้เป็นผลมาจากทางการจีนพยายามลดความลดร้อนแรงของเศรษฐกิจลง ประกอบกับมีการกำกับดูแล Shadow Banking (ธนาคารเงา) ที่เข้มงวดขึ้น 2.อัตราแลกเปลี่ยน โดยคาดว่าในปี 61 เงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 32.25 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากปัจจัยของเงินดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าต่อเนื่อง สวนทางกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ? (เฟด) โดยจะเห็นได้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐตั้งแต่ปี 59 ที่ผ่านมานั้นไม่ได้ส่งผลทำให้ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกต่อไป ท่ามกลางปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐเองที่เป็นตัวกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง ไม่ว่าจะเป็นแผนปฏิรูปภาษีที่ส่งผลให้มีการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้ในปีนี้เงินบาทมีทิศทางที่แข็งค่า แต่ถือว่ายังมีความผันผวนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 3.ราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยทั้งปีนี้คาดว่าราคาจะเฉลี่ยอยู่ที่ 61.50 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการก่อนหน้านี้ เป็นผลจากกลุ่มประเทศทั้งในและนอกโอเปกร่วมมือกันขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมัน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันในระยะต่อไปมีโอกาสอ่อนตัวลงหลังจากที่ผ่านพ้นช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้อุปสงค์การใช้เชื้อเพลิงลดลง อีกทั้งแท่นขุดเจาะ shale oil ของสหรัฐสามารถกลับมาผลิตได้เต็มศักยภาพอีกครั้ง 4.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย 38.2 ล้านคน ขยายตัว 8% จากปีก่อน คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวราว 2.05 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว 12.6% โดยถือว่าเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวแตะระดับ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี โดยยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเป็นหลักเช่นเดิม 5.รายจ่ายภาครัฐ โดยในส่วนของรายจ่ายประจำ กรอบเพิ่มขึ้นจากการรวมงบเพิ่มเติมกลางปี ขณะที่คาดการณ์ว่าอัตราเบิกจ่ายลดลงเหลือ 97.6% แต่เม็ดเงินโดยรวมเพิ่มขึ้น ส่วนรายจ่ายลงทุน กรอบเพิ่มขึ้นจากการรวมงบเพิ่มเติมกลางปี และคาดการณ์อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ 66.3% ของกรอบรายจ่ายลงทุน ด้านรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจนั้น มีการปรับกรอบลงทุนรัฐวิสาหกิจตามแผนของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ปี 61 ที่ราว 3.9 แสนล้านบาท โดยเป็นการปรับลดลงจากคาดการณ์ครั้งที่แล้ว เนื่องจากมีการนำงบเพิ่มทุนของ บมจ.ปตท. (PTT) ที่ให้กับบริษัทลูกออกประมาณ 1.2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนของงบเพิ่มเติมกลางปีงบ 61 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทนั้น คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 75.9% ซึ่งเป็นงบที่นำไปใช้ในเรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฟส 2, การปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรทั้งระบบ, การพัฒนาเชิงพื้นที่เชื่อมโยงเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชน และการชดใช้เงินคงคลัง ส่วนสมมติฐานเดียวที่ยังคงเดิม คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ที่ สศค.ยังคงคาดการณ์ไว้เท่าระดับเดิมที่ 1.50% เนื่องจากมองว่าแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อยังไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวล น.ส.กุลยา กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้สูงสุดตามกรอบบนที่ 4.7% ว่า มีความเป็นไปได้ถ้าสมมติฐานทั้งหมดอยู่ในกรอบบนที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ในปัจจุบันมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเติบโตที่ระดับ 4.2% ส่วนกรณีเงินบาทแข็งค่าจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของปีนี้หรือไม่นั้น โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า ในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยนถือว่ามีผลกระทบต่อการส่งออกน้อยกว่าในแง่ของรายได้หรือกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า เนื่องจากมองว่ากำลังซื้อจากต่างประเทศยังมีอยู่มาก จึงเชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ที่ยังสามารถเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง