"จีทีไอ" แนะผู้ประกอบการไทยจับกลุ่ม Niche Market ในญี่ปุ่น ขยายตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ หลังมีแนวโน้มขยายตัวสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 29, 2018 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า จีไอทีได้นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเครื่องประดับ International Jewelry Tokyo 2018 ที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 24-27 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเปิดตัวสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย และศึกษาลู่ทางในการเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น เพราะเป็นตลาดที่มีโอกาสสูง กลุ่มผู้บริโภคหลากหลาย ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว, กลุ่มไฮ-เอนด์ ที่มีรายได้สูง, กลุ่มผู้สูงอายุ และเครื่องประดับสัตว์เลี้ยง

"ตลาดญี่ปุ่น ไม่ใช่ตลาดหลักของอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเหมือนฮ่องกง จีน สหรัฐฯ หรือยุโรป แต่เป็นตลาดที่มีโอกาสสูงมาก โดยเฉพาะตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีอัตราการเติบโต ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาจากทั่วโลก ตลาดแนวไฮ-เอนด์ ที่จะเจาะกลุ่มพวกคนรวย ที่นิยมเครื่องประดับสุดหรู มีราคาสูง ทั้งเพชร พลอย ตลาดผู้สูงอายุที่มีกว่า 29 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมาก และเครื่องประดับสัตว์เลี้ยง ที่คนญี่ปุ่นหันมาเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น และต้องการหาเครื่องประดับ ทั้งแท้และเทียมมาประดับสัตว์เลี้ยง นอกเหนือจากเสื้อผ้า จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย" นางดวงกมล กล่าว

สำหรับแนวโน้มตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในญี่ปุ่น พบว่า ญี่ปุ่นนิยมนำเข้าเพชรและเครื่องประดับทอง ทองคำขาว เนื่องจากรสนิยมชอบสีเงินมากกว่าสีทอง คนญี่ปุ่นจะชอบเครื่องประดับประเภทมุก เพชร พลอยสีอ่อนๆ สีหวานๆ โอปอล ถ้าเป็นพลอยเนื้อแข็ง สีที่ขายดีคือ สี ขียว สีน้ำเงิน และสีแดงทับทิม ส่วนโลหะมีค่านิยม เช่น แพททินั่ม และเครื่องประดับเงิน รวมทั้งเครื่องประดับแฟชั่นรูปแบบใหม่ๆ ที่ทันสมัย ส่วนพลอยสีนิยมเป็นระยะๆ ตามแรงกระตุ้น แต่ช่วงนี้ตลาดซบเซาลงตามเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐาน จึงเป็นสาเหตุให้เครื่องประดับแบรนด์เนมต่างๆ ได้รับความนิยม แม้จะราคาสูง ขณะที่การออกใบรับรองอัญมณีหรือเครื่องประดับ ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริโภคต้องการ เพื่อความเชื่อมั่นในสินค้า

ส่วนนวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำมาใช้ในอัญมณีและเครื่องประดับ พบว่า ปีนี้การจัดงานให้ความสำคัญเรื่อง Accessories เช่น ตะขอที่ทำเป็นแม่เหล็กดูดติดกัน สะดวกต่อการสวมใส่ หรือเทคนิคสปริง ที่ยึดเพชรเข้ากับตัวเรือนทำให้เพชร หรือพลอยที่ใส่ลงไปขยับได้ เรียกว่า dancing stone หรืองานออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น การเอาปะการังมาเจียระไนเป็นลูกกลม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าครั้งนี้ จีไอทียังได้เข้าหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น เช่น Central Gem Laboratory , ISETAN Department store , Takada Jewelry รวมทั้ง Kyocera เพื่อหาแนวทางและความร่วมมือในการส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยกับญี่ปุ่นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ