นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) เปิดเผยว่า ธพว.เตรียมมาตรการสินเชื่อรวม 70,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทุกระดับตั้งแต่รายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง รวมถึงเริ่มต้นธุรกิจใหม่หรือเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ได้แก่ 1) โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับ SMEs คนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ภายใต้ข้อกำหนดต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล 2) โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) สำหรับธุรกิจชุมชน รายย่อย วงเงิน 50,000 ล้านบาท เน้นช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท 3 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียมบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 4 ปีแรก หากกู้ 1 แสนบาท ผ่อนชำระวันละ 50 บาทเท่านั้น และ 3) สินเชื่อ Factoring สำหรับธุรกิจ SMEs ขนาดย่อม-กลาง วงเงิน 12,000 ล้านบาท กู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยมีโปรโมชั่น 7:1:0 โดย 7 ตัวแรกคือ พร้อมอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วัน , 1 คือ เบิกจ่ายภายใน 1 วัน และ 0 คือ ฟรีค่าธรรมเนียมเรียกเก็บหนี้
มาตรการสินเชื่อดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจสินเชื่อตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ที่เห็นชอบอนุมัติวงเงิน 245,000 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินรัฐนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2561
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME) แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่จากการสอบถาม พบว่า ส่วนใหญ่ยืนยันว่า สามารถประคองกิจการให้ดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากหลายๆ รายได้ปรับแนวทางบริหารธุรกิจด้วยการลงทุนด้านระบบไอที และนำหุ่นยนต์มาใช้แทนแรงงานคน รวมถึงนำระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) มาช่วยในการจำหน่ายสินค้า เป็นต้น เพื่อรองรับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงของกระแสธุรกิจของโลก
"ในปีนี้จะมีเม็ดเงินเข้าระบบหลายโครงการที่ช่วยเพิ่มยอดขายเอสเอ็มอีได้ เช่น การขึ้นค่าแรง, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, โครงการลงทุนของภาครัฐ และเอกชน รวมถึงอานิสงส์จากการส่งออก และท่องเที่ยว ที่ยังดีต่อเนื่องเพราะ SME มีทั้งส่งออกเองและป้อนสินค้าให้รับผู้ส่งออกด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าแรงที่เพิ่มขึ้นนั้น ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐออกมาตรการช่วยเหลือ หรือเข้ามาเยียวยาด้วย" นายธนวรรธน์ กล่าว
อนึ่ง การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกวันละ 5-22 บาท จะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยอีก 30,000 ล้านบาท และช่วยเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยได้ 0.1-0.2% เพราะจะช่วยให้แรงงานประมาณ 6 ล้านคนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ส่วนทั้งปี 61 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 4.2-4.5%