นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สำหรับปี 61 สศอ.ยังคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไว้ที่ 1.5-2.5% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 61 คาดการณ์ไว้ที่ 2-3% จากปี 60 ที่คาดว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมน่าจะอยู่ระหว่างเกือบ 2-2% จากประมาณการเดิมที่ 1.7%
"เดิมเราคาดการณ์ GDP (ภาคอุตสาหกรรม) ปี 60 ไว้ที่ 1.7% แต่หลังจากตัวเลข MPI ทั้งปี 60 ออกมาอยู่ที่ 1.58% แล้ว เราก็คาดว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมของปี 60 น่าจะอยู่ระหว่างเกือบๆ 2 ถึง 2%" นายศิริรุจกล่าว
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาในปี 61 ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์ผันผวน หลังสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีสงบลง เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญก็ดีขึ้น ทำให้การส่งออกอาจจะดีขึ้น ก็น่าจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยปรับตัวดีขึ้น
ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องติดตาม คือ นโยบายการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และกรณีที่เวียดนามออกกฎหมายควบคุมการนำเข้ารถยนต์ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการส่งออกรถยนต์ของไทย โดยขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งเจรจา
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวถึงภาวะเงินบาทที่แข็งค่ามากในระยะนี้ว่าไม่ได้กระทบต่อการส่งออกมาก เพราะต้องมองใน 2 ส่วนคือ การนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรจะถูกลง การส่งออกของไทยที่ขยายตัวมากที่สุด คือ อาหาร ซึ่งใช้วัตถุดิบในประเทศ เพราะฉะนั้นเงินบาทแข็งค่าจึงไม่ส่งผลกระทบมาก แต่ถ้าในภาพรวมภาคอุตสาหกรรมต้องดูหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน
ส่วน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหุ่นยนต์ ขณะนี้มีผู้ผลิตในประเทศที่ทำแขนกลได้อยู่ 4 ราย ก็จะพยายามผลักดันให้เพิ่มขึ้น, เรื่อง Aviation เป็นเรื่องการสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนมากขึ้น โดยจะใช้ยุทธศาสตร์ของ EEC คือการใช้ฐานของ EEC ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงที่สนามบินอู่ตะเภา การให้สิทธิประโยชน์ที่เป็นพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมอากาศยานเป็นตัวดึงดูดให้เกิดการลงทุน เรื่องนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต ที่ขณะนี้มีผู้มายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แล้ว 8 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ BOI ซึ่งถ้าได้รับการอนุมัติทั้งหมด ไทยจะยังเป็นฐานการผลิตยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ในอนาคตของอาเซียน
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรม เบื้องต้นคาดว่าจะไม่กระทบเท่าใดนัก เนื่องจากอัตราค่าจ้างในภาคอุตสาหกรรมสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ย่อมมีผลกระทบบ้างเนื่องจากมีการปรับฐานค่าแรงขึ้นไป อุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบ คือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก แต่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลักได้ย้ายฐานการผลิตไปตั้งแต่มีการปรับค่าแรงรอบที่แล้ว เช่น ตัดเย็บเสื้อที่ย้ายไป CLMV เกือบทั้งหมดแล้ว ส่วนสิ่งทอที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทย ก็จะเป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยี Hi End ใช้ฝีมือมากกว่าการตัดเย็บเสื้อผ้าโหล ซึ่งส่วนใหญ่มีการจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว ทำให้ สศอ.เชื่อว่าการปรับขึ้นค่าจ้างไม่น่าจะกระทบต่อ MPI ในทางตรง แต่อาจจะกระทบทางอ้อมต่อบางอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก
"คาดว่าการเลิกจ้างงานไม่น่าจะเกิดขึ้นมาก เพราะถ้าเครื่องจักรเดิมที่เป็น Automation อยู่แล้วก็อาจจะเติมตัวที่เป็น Connecting เข้าไปเพื่อให้เครื่องจักรคุยกับเครื่องจักรได้ เชื่อมโยงการผลิตให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้น" ผู้อำนวยการ สศอ.ระบุ