(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุเศรษฐกิจไทย ธ.ค.60 โตต่อเนื่องจากส่งออก-ท่องเที่ยวเป็นหลัก แม้บริโภคเอกชนชะลอ-ลงทุนทรงตัว-ใช้จ่ายภาครัฐหด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 31, 2018 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนธ.ค.60 และไตรมาส 4/60 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนธ.ค.60 ขยายตัวต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีตามอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าขยายตัว สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามราคาพลังงานและอาหารสด อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามรายรับจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 9.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำ ขยายตัว 10.0% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องในทุกตลาดส่งออกสำคัญและเกือบทุกหมวดสินค้าจาก 1) อุปสงค์ต่างประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ การส่งออกข้าว ผลิตภัณฑ์ยางพารา อุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ 2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวตามน้ำมันดิบขยายตัว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และ 3) การขยายกำลังการผลิตในบางอุตสาหกรรมในช่วงก่อนหน้า อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าขยายตัวสอดคล้องกัน ทั้งการผลิตหมวดยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง และปิโตรเคมี

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว 15.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสัญชาติโดยเฉพาะจากจีน ซึ่งยังคงมีผลจากฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อนที่มีการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว เมื่อปรับฤดูกาลแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัว 3.2% จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซียเป็นสำคัญ

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงตามการใช้จ่ายในหมวดบริการ ขณะที่หมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดสินค้ากึ่งคงทนหดตัว ส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็งและทั่วถึงนัก สะท้อนจากรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน และรายได้นอกภาคเกษตรกรรมที่มีทิศทางลดลงจากเดือนก่อน

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในภาพรวมทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศมีทิศทางปรับดีขึ้น ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับลดลง และการลงทุนในหมวดก่อสร้างทรงตัวตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง

มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 15.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 10.6% ตามการนำเข้าที่ขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดย 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวตามการนำเข้าเชื้อเพลิง ซึ่งขยายตัวทั้งด้านราคาและด้านปริมาณ อย่างไรก็ดี หากไม่รวมการนำเข้าเชื้อเพลิง การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวตามการนำเข้าโลหะและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สอดคล้องกับภาคการส่งออกที่ขยายตัวดี 2) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวตามการนำเข้าสินค้าไม่คงทนในทุกกลุ่มสินค้า 3) หมวดยานยนต์ขยายตัวตามการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ สอดคล้องกับการผลิตและยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ดีขึ้น และ 4) หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน ขยายตัวตามการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขณะที่รายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรขยายตัวเล็กน้อย ด้านรายจ่ายลงทุนหดตัวจากผลของฐานสูง จากมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กในปีก่อน และการเบิกจ่ายงบลงทุนของบางหน่วยงานที่ล่าช้ากว่าแผน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.78% ชะลอลงจาก 0.99% ในเดือนก่อนตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยายตัวชะลอลงจากผลของฐานราคาน้ำมันดิบที่เริ่มสูงขึ้นในปลายปีก่อน ประกอบกับราคาอาหารสดโดยเฉพาะราคาผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ ยังคงหดตัวหลังจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.62% ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนตามอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ จาก 1) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศโดยเฉพาะของธุรกิจการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม 2) การเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ และ 3) การให้สินเชื่อทางการค้าของผู้ส่งออกไทยกับคู่ค้าในต่างประเทศตามมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวดี

ส่วนเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีในทุกตลาดส่งออกสำคัญ และเกือบทุกหมวดสินค้า และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตาม ด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทั้งเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐาน อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ