ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ปี 2561 จะทยอยฟื้นตัวขึ้นไปอยู่ที่ 1.1%YOY โดยปัจจัยหลักที่จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น มาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน จากการที่กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC บรรลุข้อตกลงขยายระยะเวลาการลดปริมาณการผลิตน้ำมันออกไปอีก 9 เดือนจนถึงเดือนธันวาคม 2561 รวมทั้งปัญหาทางการเมืองในประเทศตะวันออกกลาง ประกอบกับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตยังคงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อต่อเนื่องไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 0.6% ในปี 2561 โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปอาจปรับขึ้นได้ยาก เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอโดยเฉพาะในกลุ่มของผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย
ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 5-22 บาทต่อวัน ซึ่งส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 315.97 บาทต่อวัน อาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อมากนักถ้าการจ้างงานยังคงซบเซา อย่างไรก็ดีต้องจับตาผู้ประกอบบางส่วนที่ต้องแบกรับต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นซึ่งอาจมีผลให้ต้องปรับราคาสินค้าบางชนิดขึ้นตามไปได้ในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ปรับลดลงตามราคาในตลาดโลกหลังจากมีการลอยตัวราคาและค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ดัชนีราคาอาหารสดยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ที่ -0.94%YOY โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ รวมถึงไข่และผลิตภัณฑ์นม ขณะที่ราคาผักและผลไม้ขยายตัวเล็กน้อยเพียง 0.45%YOY อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ตามราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่ไม่เพิ่มขึ้นมากนักและมีบางหมวดที่หดตัวลง เช่น หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าราคาลดลง 0.11%YOY และหมวดการสื่อสารที่ลดลง 0.02%YOY
ขณะที่ราคาอาหารสดโดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ยังมีแรงกดดันจากผลผลิตทางการเกษตรที่อาจมีปริมาณออกสู่ตลาดจำนวนมาก ตามแนวโน้มสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลงซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่กดดันอัตราเงินเฟ้อในปีนี้
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคมอยู่ที่ 0.68%YOY ชะลอลงจาก 0.78%YOY ในเดือนธันวาคม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ชะลอลงเช่นกันอยู่ที่ 0.58%YOY จาก 0.62%YOY ในเดือนก่อน