นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. เร่งวางแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการสู่ยุค SME 4.0 โดยสนับสนุน SME ทั้งภาคการเกษตร การผลิต การค้า และบริการ ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงระดับเติบโตให้แข็งแรงใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านการตลาด สสว. จะส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มด้านการตลาด เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ให้แก่ SME ตลอดจนรวบรวมองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่นำเสนอแนวคิด คำแนะนำด้านการตลาดเพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ SME ได้นำไปปรับใช้
2.การบริหารจัดการองค์กร ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับ SME โดยเฉพาะเรื่องของระบบและคน ซึ่ง สสว.จะจัดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหรือพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำแก่ SME โดยคำนึงถึงความสอดคล้องเชิงพื้นที่และประเภทธุรกิจ 3.การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงโมเดลการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบัน สสว. ได้ใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลางในการสื่อสารและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ SME อย่างต่อเนื่อง อาทิ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทาง www.sme1.info ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี การจัดตั้ง "กลุ่ม G5" เพื่อนำเสนอความรู้ต่าง ๆ ในรูปแบบกราฟฟิกที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงจัดตั้งทีมไอที สสว. สำหรับจัดทำคลิปวิดีโอ รวมถึงเฟซบุ๊กไลฟ์ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสื่อสารกับผู้ประกอบการ SME ซึ่งปัจจุบัน สามารถติดตามได้เป็นประจำทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.01 น.
ทั้งนี้ ภายใต้การดำเนินงานทั้ง 3 ด้านดังกล่าว สสว. จะสร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ให้เป็นผู้ดูแล SME โดยเตรียมเปิดตัวโครงการ "สร้างพี่เลี้ยงสู่ SME" เชิญชวนผู้ที่มีความรู้ความสามารถพร้อมให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SME ทั่วประเทศในลักษณะของจิตอาสา เบื้องต้นตั้งเป้ารับสมัครจำนวน 100 ราย นำร่องแบ่งกลุ่มลงพื้นที่ เดินหน้าช่วยเหลือ SME ใน 10 จังหวัด พร้อมถอดบทเรียนนำองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญมาเชื่อมโยงในแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพื่อเผยแพร่ต่อไป
"ในส่วนของความคืบหน้ากองทุนเพื่อสนับสนุน SME ปัจจุบัน กองทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค.นี้ ส่วนกองทุนเพื่ออุดหนุน SME รายย่อยไม่เกิน 2 แสนบาท ขณะนี้ สสว.ได้จัดตั้งทูตกองทุนจำนวน 6 คน ภายใต้แนวคิด "ทุกเรื่องกองทุน สสว. พวกเรามีคำตอบ" เพื่อเป็นสื่อกลางในการติดตาม ประสานงาน และตอบข้อซักถามต่าง ๆ ภายในระยะเวลา 15 วัน ทูตกองทุนสามารถติดตามความคืบหน้าได้ 845 ราย จากจำนวนผู้ประกอบการที่ต้องติดตามข้อมูลอย่างเร่งด่วนจำนวน 1,349 ราย นับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ส่งผลให้กระบวนการดำเนินงานภายใต้กองทุนฯ มีความรวดเร็ว รัดกุม และเป็นระบบมากยิ่งขึ้น" นายสุวรรณชัย กล่าว