นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่า รฟท.จะประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนแบบ PPP ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) มูลค่าโครงการกว่า 2 แสนล้านบาทในช่วงเดือน มี.ค.นี้ โดยมีเวลาสัมปทาน 50 ปี ซึ่งเป็นระยะก่อสร้าง 5 ปี และบริหารการเดินรถ 45 ปี รวมทั้งจะให้สิทธิเข้าพัฒนาที่ดิน 2 แปลง ได้แก่ บริเวณมักกะสัน 145 ไร่ และศรีราชาไม่เกิน 30 ไร่ คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลในเดือน ส.ค.-ก.ย.61 และคาดจะเซ็นสัญญาได้ภายในปลายปี 61
"ระหว่างนี้ รฟท.กำลังจัดทำร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์การประกวดราคา (TOR) ขณะเดียวกันก็ได้นำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) แล้ว และอยู่ขั้นตอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาก่อนนำเข้า กนศ.อีกครั้ง และ กนศ.จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประมาณกลางเดือนมี.ค.จากนั้นจะประกาศเชิญชวนได้ทันที" นายอานนท์ กล่าว
ด้านโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และทางสายใหม่ รวม 9 เส้นทาง มูลค่าราว 4.3 แสนล้านบาท ขณะนี้ รฟท.ได้ส่งเรื่องให้กับกระทรวงคมนาคมบางส่วนแล้ว คาดว่าจะทยอยนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ มี.ค.61 เป็นต้นไปจนครบทุกเส้นทางภายในปีนี้ โดยเส้นทางแรกที่เป็นช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี และ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ส่วนเส้นทางใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ขณะนี้ได้ผ่านการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA)แล้ว
อนึ่ง โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง และทางสายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. มูลค่าโครงการ 8,120.12 ล้านบาท, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม., มูลค่า 24,294.36 ล้านบาท, สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 324 ล้านบาท มูลค่า 57,375.43 ล้านบาท, ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. มูลค่า 62,883.55 ล้านบาท, ชุมทางจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. มูลค่า 37,527.10 ล้านบาท, ขอนแก่น- หนองคาย ระยะทาง 174 กม. มูลค่า 26,663.36 ล้านบาท , เด่นชัย- เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. มูลค่า 56,837.78 ล้านบาท ส่วนเส้นทางใหม่ เส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. มูลค่า 86,345 ล้านบาท และ บ้านไผ่-มุกดาหาร- นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่า 67,965.33 ล้านบาท รวมระยะทาง 2,174 กม. มูลค่าโครงการ 427,012.03 ล้านบาท
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวถึงแผนฟื้นฟูกิจการของ รฟท.ว่า ตามแผนฟื้นฟู รฟท.จะมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) พลิกกลับมาเป็นบวกในปี 63 โดยจะมีรายได้หลักมาจากการบริหารสินทรัพย์ที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาที่ดิน โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อ นอกจากนี้ รฟท.จะมีเส้นทางเดินรถเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง โดยเส้นทางใหม่เส้นทางแรก คือ รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต