นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา จำนวนทั้งสิ้น 2 โครงการ ประกอบไปด้วย 1.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ให้แก่สถาบันเกษตรกรรวบรวมยาง โดยมีเป้าหมายการจ่ายเงินกู้วงเงิน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาการดำเนินโครงการ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 อัตราดอกเบี้ย MLR-1 ปัจจุบัน เท่ากับ 4% รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกร 3% สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยเพียง 1% กำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน ซึ่งปัจจุบันธ.ก.ส. ได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 6,200 ล้านบาท
และ 2. โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกร กู้เพื่อเป็นค่าลงทุนและเงินทุนหมุนเวียนในการแปรรูป ยางพารา เพื่อเพิ่มมูลค่า เป้าหมายการจ่ายเงินกู้ วงเงิน 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 โดยเงินกู้ค่าลงทุนคิดดอกเบี้ย ในอัตรา MLR-1.5 ปัจจุบัน เท่ากับ 3.5% รัฐบาลช่วยรับภาระดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกร 3% โดยกองทุนพัฒนาสหกรณ์และรัฐบาลจะช่วยรับภาระดอกเบี้ยอีก 0.49% สถาบันเกษตรกรจะรับภาระดอกเบี้ยในอัตรา 0.01% เท่านั้น กำหนดชำระคืนเป็นรายงวดภายในเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 1,800 ล้านบาท
นอกจากนั้น ในส่วนผู้ประกอบกิจการยางพารา รัฐบาลได้อนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการไปดูดซับยางพาราออกจากระบบ นำมาเก็บในสต็อกของผู้ประกอบการในลักษณะหมุนเวียน โดยรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยแทนผู้กู้ในอัตรา 3% ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในโครงการที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กำหนด
"มาตรการดังกล่าว มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือ ด้านราคาให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา รวมทั้งสนับสนุนกระบวนการสหกรณ์ ให้สถาบันเกษตรกร เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนกลไกตลาดให้ทำงานอย่างเต็มที่ รวมทั้ง ช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวให้เกิดความยั่งยืน ต่อไปด้วย" นายอภิรมย์กล่าว