(เพิ่มเติม) "สมคิด"มอบนโยบาย รฟท.เร่งพัฒนาระบบรางหนุนแหล่งท่องเที่ยว-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 2, 2018 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายคณะกรรมการและผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ร่วมหารือ

นายสมคิด ให้นโยบายเร่งขับเคลื่อนองค์กรนำพัฒนาระบบรางของประเทศ มีส่วนสนับสนุนความก้าวหน้าและเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมย้ำว่า ที่ผ่านมาหลายประเทศใช้การพัฒนาระบบขนส่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งระบบคมนาคมอาจจะเป็นเส้นทางถนน, ท่าอากาศยาน แต่รัฐบาลยุคนี้ยืนยันว่าหลังจากนี้จะใช้การพัฒนาระบบรางเป็นยุทธศาสตร์ ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเห็นผลเป็นรูปธรรม

นายสมคิด กล่าวถึงกำหนดการเยือนประเทศญี่ปุ่นในช่วง 8-10 ก.พ.นี้ว่า จะแวะเมืองฟูกูโอกะเพิ่อดูงานพัฒนารถไฟวิ่งหมุนเวียนรับส่งนักท่องเที่ยวภายในเมือง โดยจะมีผู้บริหาร รฟท.เดินทางไปด้วย เพื่อศึกษาดูงานก่อนจะรวบรวมแนวคิดว่าจะดำเนินโครงการลักษณะนี้ได้อย่างไรบ้าง เนื่องจากหลายเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยต้องการระบบคมนาคมเข้ามาสนับสนุน

"วันนี้มาบอกกล่าวผู้บริหารการรถไฟฯว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญมากกับการรถไฟฯ เพราะเราเล็งเห็นว่าอนาคตการสร้างความเชื่อมโยงกับการพัฒนา ไม่ว่าจะภายในประเทศ หรือกับประเทศเพื่อนบ้าน เราให้ความสำคัญกับรถไฟเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นโครงการทั้งหลายที่คิดกันอยู่ ขอให้รีบดูรีบปรับปรุง เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย โดยขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงเตรียมงบประมาณปี 62 ฝากเน้นการสร้างเส้นทางรถไฟ เส้นหลักๆ ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง เส้นทางรถไฟทางคู่ และให้เชื่อมเมืองท่องเที่ยว จากเมืองใหญ่ไปเมืองรอง พยามยามสร้างการเข้าถึงสู่ท้องถิ่น และภูมิภาค"รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนแผนการฟื้นฟูกิจการของ รฟท.นายสมคิดกล่าวว่า มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงมาก และมีศักยภาพสูง โดยจะมีรายได้จาก 2-3 แหล่งใหญ่ และการเพิ่มกำลังคนสอดรับกับการขยายการเดินรถ โดยให้นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการปรับเพิ่มบุคคลากร ให้รองรับกับธุรกิจใหม่และการปรับอัตราค่าโดยสาร โดยจะให้ก.คมนาคมหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการ รฟท. รายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบรางด้านต่าง ๆ เช่น รถไฟทางคู่ที่จะพัฒนาเส้นทางสายใหม่และภายในปี 2567 โดยจะบรรจุทางคู่เพิ่มอีก 4 เท่าของโครงข่ายรถไฟ รวมถึงการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่ จากปัจจุบันที่การรถไฟฯ มีโครงข่ายรถไฟครอบคลุม 47 จังหวัด ระยะทาง 4,044 กม. โดยจะเพิ่มอีก 681 กม.ภายในปี 67 และครอบคลุม 61 จังหวัด ในอนาคตการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท

รวมถึงการพัฒนาโครงการรถไฟเกี่ยวกับการท่องเที่ยวตามเส้นทางรถไฟในปัจจุบัน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ครอบคลุมภาคเหนือ 16 จังหวัด ภาคอีสาน 18 จังหวัด ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด และภาคใต้ 9 จังหวัด รวมทั้งรายงานความคืบหน้าแผนฟื้นฟูที่ดำเนินการปัจจุบัน การพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ รฟท.ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาล ทั้งการให้ปลดล็อคมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 41 เพื่อกำหนดกรอบอัตรากำลังพนักงานได้ตามความต้องการ เนื่องจากอยู่ในภาวะขาดแคลนเจ้าหน้าที่และการพิจารณาปรับโครงสร้างค่าโดยสารให้สะท้อนต้นทุนมากขึ้น เพื่อลดการขาดทุนในอนาคต

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า รองนายกรับมนตรีได้ให้นโยบายการฟื้นฟูกิจการ รฟท.ได้แก่ การเดินหน้าการลงทุนของรฟท. โดยโครงการลงทุนหลักๆในปีนี้ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่มี 9 เส้นทาง ซึ่งจะเดินหน้าต่อ ถือเป็นการปฏิรูปการรถไฟฯครั้งใหญ่ในรอบ 120 ปี

และเส้นทางใหม่ได้รับนโยบายลักษณะเชื่ออมต่อให้เป็น loop เชื่อมทางรถไฟ ไปเชื่อมต่อเมืองท่องเที่ยว โดยเป็นการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว และทำการตลาดให้การเดินทางโดยรถไฟเป็นที่นิยม ซึ่งปัจจุบันได้ดำนเนินการรถไฟท่องเที่ยวอยุ่แล้วแต่ต้องการให้มีมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็เดินหน้ารถไฟทางด้านโครงการพิเศษ ได้แก่ รถไฟในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) , โครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งในเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายต้องเป็นรถไฟความเร็วสูง และให้ความสำคัญพิเศษโครงการเชื่อมระหว่างตะวันออกไปตะวันตก ซึ่งปีนี้จะมีรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ส่วนตอนกลาง ช่วงบ้านไผ่-นครสวรรค์-ตาก ทางญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการศึกษา และทางเกาหลีก็ได้เข้ามาช่วยศึกษาด้วย โครงการเหล่านี้ถือว่าเป็นการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นการปรับโครงสร้างองค์กร รฟท.โดยแยกบริษัทลูกในการบริหารสินทรัพย์ การบริหารธุรกิจจากการเดินรถไฟ ในเรื่องดำเนินการสนับสนุนการท่องเที่ยว ต้องเชื่อมกับภาคธุรกิจเอกชน ทำแพ็คเกจท่องเที่ยว และแผนฟื้นฟู หาแนวทางการทำตลาดใหม่ โดยตามแผนฟื้นฟูจะมีการแยกธุรกิจ 3 ส่วนคือ บริษัทแม่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ บริษัทที่เดินรถ โดยแยกการเดินรถออกเป็นแต่ละสายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ