รมว.พลังงานเล็งใช้พลังงานชีวมวลผลิตไฟฟ้าในจ.ชายแดนใต้ ระหว่างรอสรุปโรงไฟฟ้าถ่านหิน คาดชัดเจน Q1/61

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 2, 2018 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ชะลอการตัดสินใจการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาในพื้นที่ภาคใต้ออกไปเป็นในช่วงปลายปี 63 และได้เตรียมแผนรองรับการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว โดยจะให้มีการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลจำนวน 300 เมกะวัตต์ภายใน 3 ปีนี้

เบื้องต้นเห็นว่าการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลดังกล่าวจะต้องเกิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ขณะเดียวกันก็พัฒนาระบบสายส่งเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้น และเพิ่มขนาดสายส่งเพื่อเชื่อมโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน ซึ่งรูปแบบของการดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลนั้น จะมีความชัดเจนในไตรมาส 1/61

"ถ้าเราสามารถมีโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ 300 เมกะวัตต์ ก็จะบรรเทาการต้องนำเข้าไฟฟ้าจากส่วนกลางผ่านสายส่งมาภาคใต้กว่า 400 เมกะวัตต์ ซึ่งการบริหารจัดการ 3-5 ปีข้างหน้า เป็นการบริหารจัดการลดความเสี่ยง กำลังการผลิตเรามีมากพอบริหารจัดการได้ แต่ต้องเพิ่มจำนวนและขนาดสายส่งเพื่อเชื่อมโยงโรงไฟฟ้าไปสู่เมืองหลักที่รวมของผู้ใช้ไฟฟ้า นี่คือคอขวดปัจจุบัน ถ้าเราขยายคอขวดได้ ปัญหาก็จะเบาลง....ถ้าทุกอย่างดำเนินการได้อย่างราบรื่นก็คิดว่าใน 2-3 ปีข้างหน้าคงสำเร็จหมด ในช่วงนั้น ความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินคำตอบก็จะเห็นชัดตอนนั้น"นายศิริ กล่าว

รมว.พลังงาน กล่าวว่า สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว 50 เมกะวัตต์ และอยู่ในระหว่างพัฒนาอีก 50 เมกะวัตต์ รวมเป็น 100 เมกะวัตต์ ดังนั้นจะมีกำลังผลิตใหม่เพิ่มอีก 200 เมกะวัตต์ เพื่อให้มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมเป็น 300 เมกะวัตต์ ซึ่งรูปแบบเบื้องต้นต้องการให้เป็นการดำเนินการโดยประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งการซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรในพื้นที่ และการจ้างงาน รวมถึงการขายไฟฟ้า ขณะที่มั่นใจว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพของเชื้อเพลิงชีวมวลเพียงพอที่จะดำเนินการได้

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอาจจะเป็นการเพิ่มในส่วนของการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการประชารัฐที่มีอยู่เดิม หรืออาจจะเป็นการทบทวนใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนภายในไตรมาสแรกปีนี้ เพื่อให้โรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า

เมื่อปีที่แล้ว ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) ในภาคใต้อยู่ที่ 2,624 เมกะวัตต์ ขยายตัว 3.4% ขณะที่กำลังการผลิตในภาคใต้อยู่ที่ 2,788 เมกะวัตต์ โดยมาจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือโรงไฟฟ้าจะนะ และขนอม กำลังการผลิตรวม 2,400 เมกะวัตต์ แต่ก็สามารถผลิตได้เพียง 80% หรือราว 2,024 เมกะวัตต์เท่านั้น ทำให้ยังมีความจำเป็นต้องนำไฟฟ้าจากส่วนกลางลงไปภาคใต้โดยผ่านสายส่งที่มีระยะทางยาวกว่า 600 กิโลเมตร อีกประมาณ 460 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงเหตุไฟฟ้าดับเป็นระยะเวลานานได้

ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดแนวคิดที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่ จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลา ขึ้นมา แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนแผนงานดังกล่าว โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นสำหรับช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้าจะยังรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ได้ โดยการดำเนินการเพิ่มจำนวนและขนาดของสายส่งแรงดันสูง เชื่อมโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่ในปัจจุบันคือขนอมและจะนะ ตรงสู่เมืองที่มีการใช้ไฟฟ้ามากในบริเวณฝั่งอันดามัน และเชื่อมกับสายส่งหลักจากภาคกลางที่สถานี จ.สุราษฎร์ธานี ตลอดจนพัฒนาระบบสายส่งและโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าวให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอกับความต้องการในพื้นที่

ขณะเดียวกัน จะมีการศึกษาแผนการตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ภาคใต้คู่ขนานกันไปด้วย ซึ่งเมื่อแผนงานต่างๆ ดำเนินการได้อย่างชัดเจนแล้ว ก็จะมีเวลาเพิ่มขึ้นในการศึกษาและตัดสินใจในการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 โครงการอีกประมาณ 3 ปี โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะใช้เวลาดังกล่าวดำเนินการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ให้แล้วเสร็จ และสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะให้พิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ปัจจุบันและทางเลือกพื้นที่อื่นควบคู่กันไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ