บมจ.ปตท. (PTT) ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านพลังงาน ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวว่า ปตท. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพของประเท และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ปตท. จึงมีความยินดีที่ได้ลงนามความร่วมมือด้านพลังงาน กับ กฟผ. เพื่อร่วมกันศึกษา วางกรอบความร่วมมือในการประกอบธุรกิจพลังงาน ด้วยองค์ความรู้ในธุรกิจที่แต่ละหน่วยงานมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะเสริมสร้างให้เกิดการนำไปประยุกต์ และต่อยอดให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่ประเทศได้ในอนาคต เพื่อให้การประกอบธุรกิจพลังงานของประเทศ เป็นไปอย่างมั่นคง และมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางพลังงาน และนโยบายที่ส่งเสริมมิติด้านนวัตกรรมผ่านการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสอดรับกับนโยบาย "Thailand 4.0" ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ Value Based Economy หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมแล้ว ยังจะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน และจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคอุตสาหกรรมว่า ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และจะได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วน มีพลังงานใช้อย่างต่อเนื่อง และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็น Pride and Treasure of Thailand ต่อไป
นายเทวินทร์ กล่าวต่อว่า หลังจากการลงนาม MOU ร่วมกันในวันนี้จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันของทั้ง 2หน่วยงานภายใน 30 วัน เพื่อเข้ามาพิจารณาในรายละเอียดของโครงการความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น โดยเบื้องต้นได้หารือในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายรัฐบาลที่จะจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอกับความต้องการ โดยโครงการแรกๆที่คาดว่าจะดำเนินการร่วมกัน ได้แก่ โครงการสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในรูปแบบเรือลอยน้ำ FSRU (Floating Storage Regisification Unit) จำนวน 5 ล้านตัน/ปี ของกฟผ.นั้น ปตท.ก็จะเข้ามาช่วยพิจารณาในเรื่องการเชื่อมต่อคลัง LNG มายังท่อส่งก๊าซฯ เพื่อให้การบริหารระบบท่อเกิดประโยชน์สูงสุด , การสร้าง FSRU คลังรับ LNG ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรองรับก๊าซจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ที่สัญญาจะเริ่มทยอยหมดลง ก็จะร่วมกันพิจารณาว่าจะดำเนินการร่วมกันได้อย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ในส่วนของโครงการ FSRU รองรับนำเข้า LNG ในเมียนมานั้น ที่ปตท.ได้รับเป็นผู้ศึกษาโครงการดังกล่าวนั้น ก็ไม่ได้เห็นโอกาสเฉพาะการสร้างคลัง LNG เท่านั้น แต่ก็มองโอกาสต่อยอดถึงการสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งก็จะเป็นความร่วมมือที่จะหารือกันต่อไปว่ากฟผ. หรือบริษัทในกลุ่มของกฟผ.สนใจจะเข้าไปร่วมดำเนินการหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการนำความรู้ประสบการณ์ของทั้ง 2 หน่วยงานมาสร้างความมั่นคงด้านพลังงานร่วมกัน หลังจากนี้ก็คาดว่าจะมีโครงการอื่นๆที่มีรูปธรรมชัดเจนออกมา
"ถ้ามีการตัดสินใจลงทุน ปตท.ก็จะเลือกที่จะไปด้วยกันกับกฟผ.อันดับแรก ส่วนจะมีพันธมิตรอื่นๆ หรือไม่ ก็แล้วแต่ความจำเป็น"นายเทวินทร์ กล่าว
ด้านนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่า กฟผ. กล่าวว่า กระแสการพัฒนาของ Disruptive Technology ในปัจจุบัน ส่งผลต่อโลกธุรกิจอย่างยิ่ง ปตท. และ กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านพลังงานของประเทศจึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง รองรับการเติบโตของเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อให้ทันกับทิศทางการพัฒนาในระดับสากล
ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่าง ปตท. และ กฟผ. นี้ จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนานวัตกรรมในธุรกิจพลังงานรวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ร่วมกัน เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพและประสบการณ์ของทั้งสองหน่วยงานจะนำพาให้เกิดการขยายผลที่เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อประเทศชาติและประชาชน ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง เพื่อความยั่งยืนของประเทศต่อไป
ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือด้านพลังงานครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของสองรัฐวิสาหกิจไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ที่มีพันธกิจหลักในการดูแลความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ ซึ่งปัจจุบันทั้งสองหน่วยงาน ได้ทำหน้าที่ตามพันธกิจของตนอย่างดีอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยไม่เคยเกิดภาวะวิกฤตทางพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และมีพลังงานทั้งในส่วนของ fossil fuel และไฟฟ้าให้ใช้อย่างต่อเนื่อง และมีต้นทุนในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด Team Thailand for Energy Business ที่จะช่วยดูแลความมั่นคงทางพลังงาน ตลอดจนร่วมกันพัฒนาธุรกิจพลังงาน และนวัตกรรมทางด้านพลังงาน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นไป
"กระทรวงพลังงานมุ่งหวังทั้งสององค์กรเป็นผู้นำในการพัฒนาธุรกิจพลังงานในต่างประเทศ เพื่อส่งกลับมาเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศไทย รวมถึงจะเป็นการช่วยพัฒนาประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้อีกทางหนึ่งด้วย"รมว.พลังงาน ระบุ