นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมาศาลอาญาได้มีคำสั่งที่ 8/2561 เรื่อง การพิจารณาพิพากษาคดีความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยคำสั่งดังกล่าวมีสาระสำคัญ 5 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ 1.ให้จัดองค์คณะพิเศษขึ้น 2 คณะ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีการทำประมงผิดกฎหมายโดยเฉพาะ ตามที่หัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญามอบหมาย
2.กำหนดให้มีวันนัดเตรียมความพร้อมของคู่ความภายใน 1 เดือน นับแต่วันฟ้อง ก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน 3.ให้การพิจารณาคดีการทำประมงผิดกฎหมายเป็นคดีสามัญพิเศษ เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในคู่มือสำหรับตุลาการในการนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะและต่อเนื่อง 4.ในการวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้พิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดว่า มีลักษณะเป็นเครือข่ายหรือองค์กรอาชญากรรม เป็นผู้มีอิทธิพลหรือไม่ และความเสียหายมีผลกระทบต่อทรัพยากรทางน้ำ และสิ่งแวดล้อมเพียงใด และ 5.การพิพากษาลงโทษจำเลยให้ถือตามบัญชีมาตรฐานการกำหนดโทษของศาลอาญา ส่วนการสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวให้ถือตามบัญชีเกณฑ์มาตรฐานกลางหลักประกันการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยของศาลอาญา ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไป
"ปัจจุบันศาลอาญาได้อำนวยความสะดวกในการบังคับใช้กฎหมายประมงซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.พ.61 นั้น ทำให้การดำเนินคดีความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาเรื่องประมงไอยูยูทางกระทรวงเกษตรฯ ต้องขอขอบคุณศาลอาญาด้วยที่จัดระบบพิจารณาคดีให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาศาลยุติธรรมได้รับฟ้องคดีความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ไว้พิจารณาเป็นจำนวนหลายคดี ซึ่งคดีประเภทนี้มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว โดยมีเขตอำนาจรับฟ้องคดีได้ทั่วประเทศ หมายความว่าใครจะมาฟ้องที่ศาลนี้ได้หมด แม้มูลคดีจะเกิดที่อื่น และได้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและความเข้มข้นในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน ยังเห็นถึงการให้ความสำคัญของทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูของไทยได้อย่างชัดเจน" นายกฤษฎา กล่าว