นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่ จ.จันทบุรี (ครม.สัญจร) รับทราบมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการของรัฐบาลในการเสริมสร้างและยกระดับฐานรากเรื่องของการท่องเที่ยวให้เข้มแข็ง และก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงการกระจายรายได้จากเมืองหลักสู่เมืองรอง และลดความเหลื่อมล้ำ โดยใช้เครื่องมือการท่องเที่ยวให้เกิดการครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งเชื่อมโยงชุมชนให้มีส่วนร่วมในการอำนายความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ประกอบกับสภาพการณ์การท่องเที่ยวมีการกระจุกตัวในเมืองหลัก 22 จังหวัด
โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้นำเสนอ 1.โครงการ Tourism Big Data เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนา Tourism Marketing Smart Data รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลกับพันธมิตร Global Online Platform เพื่อสร้างฐานในการพัฒนา Tourism Marketing Smart Data อย่างยั่งยืน รวมทั้งการใช้ Social Listening Tool ในการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลเชิงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในลักษณะ Voice of Customer (VOC) และ Voice of Stakeholders (VOS) ในการบริหารจัดการความสัมพันธ์และพัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้น และนำโครงการใหม่ที่เกิดประโยชน์ต่อเมืองรองและชุมชนสู่การปฏิบัติ
2.โครงการ Amazing Thailand Go Local พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สามารถเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ เกิดการพัฒนาทางกายภาพของแหล่งท่องเที่ยวให้เข้าถึง สะดวก ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์ และมีความยั่งยืน รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองรองมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 5 กิจกรรมย่อย ได้แก่ กิจกรรมโครงการอาหารถิ่น, กิจกรรมนำเที่ยวชุมชนแบบเชื่อมโยง, กิจกรรม CSR in the Local, การบริหารจัดการรูปแบบการดำเนินงานการตลาดและยกระดับความรู้ด้านนวัตกรรมและ Digital Marketing (Local Heros) , กิจกรรมยกระดับชุมชนเข้มแข็งจากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ Creative District (Local Strength)
3.โครงการส่งเสริมและเสริมความเข้มแข็งห่วงโซ่คุณค่าด้านการท่องเที่ยว (เมืองรอง 55 จังหวัด) ประกอบด้วย 5 กิจกรรมย่อย ได้แก่ การปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานในการท่องเที่ยว, ส่งเสริม พัฒนา และสร้างสรรค์สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง, การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อบริการท่องเที่ยว, การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว, พัฒนาการตลาดและประชาสัมพันธ์
ด้านนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินได้กว่า 10,000 ล้านบาท ในเศรษฐกิจรากหญ้า และจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองรองจำนวนกว่า 10 ล้านคน ในปี 2561
ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เพื่อเป็นการยกระดับในแต่ละจังหวัดแต่ละชุมชนให้มีมาตรฐานสากล Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) จึงได้มีการคัดกรองชุมชนเป้าหมายใน 8 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว จำนวน 168 ชุมชน แบ่งเป็น ชุมชนระดับ A ที่มีความพร้อมในการเชื่อมโยงและส่งเสริมการตลาด จำนวน 25 ชุมชน ชุมชนระดับ B ที่สามารถพัฒนาเพื่อเป็นชุมชนต้นแบบและพี่เลี้ยงของแต่ละจังหวัดได้ จำนวน 69 ชุมชน ชุมชนระดับ C ที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การยกระดับเป็นต้นแบบในปีต่อไป จำนวน 66 ชุมชน และอยู่ระหว่างการสำรวจอีก 8 ชุมชน โดยในจำนวน 168 ชุมชนเป้าหมายที่มีการคัดกรองแล้ว ประกอบด้วยชุมชนในภาคตะวันออกจำนวน 28 ชุมชน แบ่งเป็น ตราด จำนวน 12 ชุมชน จันทบุรี 3 ชุมชน ระยอง 3 ชุมชน และชลบุรี 10 ชุมชน มีการลงพื้นที่เมืองหลัก-เมืองรองอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นการดำเนินการส่งเสริมที่มุ่งเน้นด้านอุปสงค์ (Demand Side) และด้านอุปทานของการท่องเที่ยว (Supply Side) เพื่อการท่องเที่ยวอย่างสมดุล
นอกจากนี้ กรมการท่องเที่ยวยังได้ส่งเสริม "ปราชญ์ชาวบ้าน" เป็นบุคคลที่เรียกว่า "มัคคุเทศก์ท้องถิ่น" ให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับชุมชนในท้องถิ่น มีการดำเนินการจัดทำเกณฑ์การประเมินพื้นที่ เพื่อกำหนดเขตพื้นที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นหรือชุมชนฯ โดยในปี 2560 มีพื้นที่ที่ผ่านการประเมินฯ จำนวน 4 พื้นที่ คือ ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด, ชุมชนบ้านนาต้นจั่น ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย, ชุมชนบ้านรวมไทย ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ ชุมชนแหลมสัก ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่
ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงฯ จะมีการผลักดันโครงการเชฟชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบและยกระดับมาตรฐานอาหารไทยจากระดับชุมชน รวมทั้งสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
"ทุกมาตรการทั้งหมดจะเข้าสู่ระบบ Big Data ด้านการท่องเที่ยว ผ่านทาง www.thailandtourismdirectory.go.th ซึ่งเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวของไทยที่มีคุณภาพ ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และสามารถอ้างอิงได้" นายพงษ์ภาณุ กล่าว