นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวเสวนาในหัวข้อ "ไทยแลนด์ เทคออฟ 2018" โดยมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยปี 2561 สามารถเติบโตได้ดี และมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4% ตามที่หลายหน่วยงานประมาณการไว้ เป็นผลจาการขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจในทุกๆด้าน ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม ดิจิทัล การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการท่องเที่ยว
"ปีนี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกไทยดีขึ้นด้วยซึ่งอาจจะดีกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ที่ 6% การบริโภคในประเทศก็จะปรับตัวดีขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศมั่นใจว่า จะมียอดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น จากปีที่ผ่านมา มียอดลงทุน 7.2 แสนล้านบาท พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ลงไปในระดับชุมชมให้มากขึ้น"นายสมคิด กล่าว
สำหรับในปีนี้ สิ่งที่จะมีการเทคออฟ คือการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีความสมดุล ด้วยการสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาด้านการเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และดิจิตัล ซึ่งด้านเกษตร รัฐบาลมองถึงการปฏิรูปและสร้างความมั่งคั่งทางการเกษตร หาตลาดให้กับเกษตรกร พัฒนาสินค้าให้เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมให้เกิดการค้าขายผ่านระบบอิคอมเมิร์ช
ด้านอุตสาหกรรม จะส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมและนวัตกรรมใหม่ๆ เน้นให้เกิดสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา
นายสมคิด กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า สนช.จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ... ในสัปดาห์นี้ ก่อนจะส่งกลับมาให้ครม.พิจารณา โดยเชื่อมั่นว่า เมื่อมีกฏหมายอีอีซี เกิดขึ้นจะส่งให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนมีมากขึ้น และน่าจะทำให้ยอดคำขอส่งเสริมการลงทุนมากว่าปีที่ผ่านมา ที่มียอดคำขอ 2 แสนล้านบาท
ทางด้านดิจิตัล นายสมคิดมองว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศ จะทำให้เอสเอ็มอีสามารถค้าขายและเติบโตได้ทวีคูณ กลายเป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี พร้อมกันนี้ ดิจิตัลจะเข้ามาเปลี่ยนให้การรับและจ่ายเงินของภาครัฐ เป็นระบบอิเล็คทรอนิกส์ทั้งหมด ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 27 มีนาคมนี้ และจะไปสอดรับการช่วยเหลือประชาชน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการทำ Big data โดยจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการทำ Big data เพื่อให้เข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคได้มากขึ้น
ทั้งนี้ นายสมคิด ระบุถึงปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ว่า ไม่ได้ส่งผลต่อความเดินหน้าด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมองว่าเรื่องการเมืองก็เป็นเรื่องของการเมือง และเข้าใจดีว่า ทุกคนอยากให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ช่วงนี้อยากให้ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีก่อน
พร้อมย้ำว่า โครงการไทยนิยมยั่งยืน ไม่ได้เป็นการลงพื้นที่เพื่อไปหาเสียง แต่เป็นความตั้งใจที่จะเข้าไปดูแลประชาชน โดยเข้าไปรับทราบปัญหาในพื้นที่โดยตรง เพื่อนำมาแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
"ไม่มีเจตนาไปหาเสียง ไม่จำเป็นต้องหาเสียงเลย ดูจากประชาชนที่ตอบรับเขาดีใจที่รัฐบาลทำให้อะไรให้เขา ไม่มีใครทำการเมือง ถ้าในอนาคตจะมีเป็นเรื่องของดวงชะตา"นายสมคิด กล่าว
นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าของการพัฒนาและลงทุนในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า ตอนนี้ร่างกฏหมาย EEC ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมมาธิการเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันพรุ่งนี้ (8 ก.พ.1) ก่อนที่จะออกเป็นกฏหมายในลำดับต่อไป
"หากกระบวนการต่างๆเสร็จเรียบร้อยแล้วทางกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมที่จะออกสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) พร้อมกับพยายามเริ่มทยอยก่อสร้างโครงการต่างๆให้ได้ภายในปีนี้ พร้อมกับเริ่มดำเนินก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อมารองรับ เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือมาบตาพุดและท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในการเดินหน้าลงทุนโครงการ EEC อย่างจริงจัง ซึ่งได้มีความคืบหน้าออกมามากแล้ว"
อย่างไรก็ตามการลงทุนใน EEC เป็นโครงการที่ไม่ได้ให้ประโยชน์เฉพาะแค่ 3 จังหวัดในโครงการเท่านั้น แต่ให้ประโยชน์ต่อจังหวัดอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย เช่น ปราจีนบุรี และสมุทรสาคร ซึ่งจะมีการหาวิธีการในการที่ให้จังหวัดอื่นๆมีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเดินหน้ายกระดับประเทศไทย เพื่อการสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจในประเทศอย่างยั่งยืน และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและประชาชนในประเทศในการเดินหน้าประเทศไทยเป็นไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งโรดแมพที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะเดินหน้าไปนั้นมีนโยบายในการมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวเพื่อก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างเช่นกับประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค 4.0 แล้ว
สำหรับกระบวนการในการดำเนินนโยบายจะเน้นการบูรณาการให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี IoT (Internet of thing) และเทคโนโลยี AI มาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารจัดการ ซึ่งจะเสริมศักยภาพกระบวนการทำงานของธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สามารถทัดเทียมกับประเทศอื่นๆได้ สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญในการเดินหน้าเป็นอุตสาหกรรม 4.0 นั้นมี 4 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ 1.การปรับตัวของอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะให้ความสำคัญมากขึ้น ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมหนักประเภทยานยนต์ และอุตสาหกรรมด้านการผลิตเครื่องแต่งกาย เป็นต้น 2.การต่อยอดเพื่อทำให้สามารถแข่งขัน เพิ่มมูลค่าของสินค้า และการผลิตสินค้าที่มีความรวดเร็วทันกับความต้องการของลูกค้า เพื่อทำให้ผู้ประกอบการไม่เสียประโยชน์ 3.การพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยการนำความรู้ใหม่ๆมาประยุกต์ใช้ และเชื่อมโยงตลาดเข้าด้วยกัน 4.การพัฒนาเทคโนโลยีในส่วนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกที่จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้
นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเกษตรกำลังเผชิญปัญหา ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด หนี้สินซ้ำซาก ต้นทุนสูง คุณภาพต่ำ เพราะขาดปัจจัย 3 ด้าน ได้แก่ ขาดความรู้ ขาดเงินทุน และไม่มีตลาดรองรับ ซึ่งทางออกของภาคเกษตรไทย คือ การปฎิรูปภาคเกษตร เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
โดยในการปฏิรูปภาคการเกษตรนั้นต้องบูรณาการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรให้ตรงจุด ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ประชุมหารือทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อการดำเนินนโยบาย "ตลาดนำการผลิต" เพื่อทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว ภายในปี 65 และปี 70 เกษตรกรที่ยากจน 3.9 ล้านคนต้องหมดไป รวมถึงต้องมีสินค้าเกษตรปลอดภัยให้ได้ 100% โดยจะมีการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของผลผลิตที่ได้
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมุ่งเน้นการให้เป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่มีความเข้มแข็ง และวิสาหกิจชุมชนให้เป็นที่พึ่งของเกษตรกร ตลอดจนกำลังจะสร้างระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตร เพื่อการบริหารจัดการด้านการเกษตรที่ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมพร้อมวางระบบบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เสร็จเรียบร้อยแล้วและกำลังเร่งขยายพื้นที่เขตชลประทาน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตชลประทาน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ได้ไม่น้อยกว่า 30% จากปัจจุบันมีเพียง 10%
"สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ อยากเห็น คือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรทุกคนที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถอยู่ในสังคมได้ และยังหวังว่าจะไม่มีสินค้าเกษตรและผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับการวางแผนการผลิต และเป็นการใช้เครื่องมือและเครื่องจักรการกษตรร่วมกัน เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของกระทรวงเกษตรที่จะทำอย่างจริงจัง"นายกฤษฎา กล่าว
ส่วนปัญหาพืชผลที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ซึ่งประเทศไทยผลิตยางพาราได้ราว 4 ล้านตัน/ปี แต่มีการใช้ยางพาราในประเทศราว 500,000 ตัน และอีกกว่า 3 ล้านตันหรือกว่า 80% ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ รัฐบาลจึงให้มีการนำแนวทางการพัฒนาประเทศเพื่อเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการบริหารจัดการใหม่ วางแผนการผลิตให้อุปสงค์และอุปทานสมดุลกัน และเป็นโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ จากวัตถุดิบที่มีคุณภาพที่เกษตรกรผลิตได้เอง โดยยางพารากว่า 70% ถูกนำไปใช้ผลิตยางรถยนต์ สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่มีการเติบโตมากขึ้น ประชากรมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นตาม
"หากเกษตรกรไทยยังเคยชินกับวิถีเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง คือ มุ่งขายแต่วัตถุดิบ ผลตอบแทนที่ได้ก็จะมีเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเราสร้างให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่เพิ่มมูลค่ามากขึ้น เปลี่ยนจากการขายในรูปน้ำยางสดหรือแผ่นยาง เป็นขายในรูปยางรถยนต์มูลค่าก็จะเพิ่มสูงขึ้น เงินที่ได้ก็มากขึ้น"นายกฤษฎา กล่าว