ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมรอบแรกของปี 2561 วันที่ 14 ก.พ. 2561 โดยการฟื้นตัวที่ยังไม่เต็มที่ของเศรษฐกิจในประเทศ ยังสนับสนุนนโยบายการเงินผ่อนคลายอีกระยะ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยกระจุกในภาคต่างประเทศเป็นหลัก ขณะภาคเศรษฐกิจในประเทศยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะภาคการลงทุนเอกชนที่อาจต้องรอแรงส่งจากการลงทุนภาครัฐ ทำให้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยนโยบายการเงินผ่อนคลายในการช่วยหนุนให้การลงทุนสามารถที่จะฟื้นตัวอย่างมั่นคง แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น
ขณะที่ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อทั่วไปในประเทศที่ยังทรงตัวในระดับค่อนข้างต่ำ อันสะท้อนถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ก็เป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้ กนง.น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง จนกว่าพัฒนาการการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยจะส่งสัญญาณที่ดีขึ้นในวงกว้างกว่านี้
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการส่งสัญญาณถึงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า ซึ่งคงจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนการเงินทั่วโลก ทั้งนี้ นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปรับตัวขึ้นกว่า 0.4% หลังเครื่องชี้เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีทิศทางเพิ่มขึ้น ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับผลของมาตรการปรับลดภาษีที่เกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดแรงงานอยู่ในระดับค่อนข้างตึงตัว ว่าอาจจะเป็นปัจจัยเร่งให้เงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวขึ้นมากว่าคาด และส่งผลให้เฟดอาจจะต้องเร่งจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม
"หากเฟดมีการส่งสัญญาณถึงโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากว่า 3 ครั้ง อาจจะส่งผลให้ตลาดการเงินมีการปรับตัวตาม ผ่านต้นทุนการเงินที่คงปรับขึ้นในทิศทางเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งการส่งสัญญาณดังกล่าวอาจส่งผลให้ธนาคารกลางต่างๆ เผชิญแรงกดดันที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางเดียวกันกับธนาคารกลางสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งคงเป็นปัจจัยที่คณะกรรมการนโยบายการเงินคงให้น้ำหนักในการพิจารณาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมในระยะต่อไป" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะส่งผลให้มีกระแสเงินทุนบางส่วนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้และตลาดทุนไทย ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติได้มีการทยอยปรับลดการถือครองหุ้นและตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นเหนือระดับ 2.7% อันเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี จากความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากว่า 3 ครั้งของเฟด ที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนในเงินทุนเคลื่อนย้าย และเป็นปัจจัยที่ช่วยผ่อนคลายการแข็งค่าของเงินบาทในระยะสั้นได้ส่วนหนึ่ง
ในส่วนของต้นทุนทางการเงินอาจมีแนวโน้มขยับขึ้นในระยะข้างหน้า ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่คงทยอยปรับขึ้นในทิศทางเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูง กนง. น่าจะยังมีช่องทางในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยให้น้ำหนักไปที่การเติบโตของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยอย่างไรก็ดี ท่ามกลางสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูง กนง. น่าจะยังมีช่องทางในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยให้น้ำหนักไปที่การเติบโตของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ การคงอัตราดอกเบี้ยของ กนง. คงช่วยบรรเทาไม่ให้ธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่ม SME จากผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่ขยับขึ้น