นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในปี 61 สบน. มีแผนกู้เงิน จำนวน 1.124 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย การกู้เงินใหม่ จำนวน 607,251 ล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 450,000 ล้านบาท
และสนับสนุนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โครงการระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน และ โครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตลอดจนการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจรของกรมทางหลวง และการกู้เงินปรับโครงสร้างหนี้เดิม จำนวน 516,755 ล้านบาท
ทั้งนี้ สบน.เห็นควรระดมทุนจากภายในประเทศ โดยการกู้เงินในรูปแบบพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้อื่นๆ เป็นหลัก โดยมีการกู้เงินสกุลต่างประเทศจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศบางส่วนสำหรับโครงการที่มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ
นายประภาศ กล่าวว่า การกู้เงินและการบริหารหนี้ของรัฐบาลจะดำเนินการภายใต้แผนการบริหารความเสี่ยงซึ่งจะครอบคลุมการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และการปรับโครงสร้างหนี้โดยคำนึงถึงต้นทุนและความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยปัจจุบันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของหนี้รัฐบาลยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศเพียง 0.9% ของหนี้รัฐบาลทั้งหมด โดยหนี้ต่างประเทศที่คงค้างอยู่และหนี้ต่างประเทศที่จะมีการกู้เพิ่มเติมในปี 61 สบน.จะเร่งดำเนินการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งชำระคืนหนี้ต่างประเทศที่มีต้นทุนสูงกว่าอัตราตลาดในปัจจุบัน โดยเปลี่ยนมาใช้เงินกู้ในประเทศทดแทน
นายประภาศ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธาน เพื่อปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2561 โดยสาระสำคัญจะมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณกลางปี 2561 เพิ่มเติมอีก 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ จะมีการปรับแผนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพิ่มขึ้นอีก 8,000 ล้านบาท เพื่อใช้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ซึ่งการลงทุนดังกล่าวเป็นผลดีต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบแผนการบริหารหนี้ใหม่ภายใน 2 สัปดาห์
"การบริหารจัดการเงินสดจะทำในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้ระดับเงินคงคลังอยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่น้อยหรือมากเกินไป หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบแก้ไขกฎหมายหนี้สาธารณะ และกฎหมายเงินคงคลัง เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะทำให้คลังกู้เงินระยะสั้นเพื่อบริหารเงินคงคลังไม่เกิน 3% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย และยังให้สามารถขยายเวลาการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลให้สอดคล้องกับการใช้เงินจริง ไม่ต้องเร่งกู้ก่อนสิ้นปีงบประมาณทั้งที่โครงการยังไม่มีความพร้อมจะใช้เงิน"นายประภาศ กล่าว