นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยนโยบายและแผนดำเนินงาน บสย. ปี 2561 ว่า ตั้งเป้าการค้ำประกันสินเชื่อปีนี้ 110,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการใหม่ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อ 99,306 ราย และตั้งเป้าส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SMEs) เข้าถึงสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ ไม่น้อยกว่า 73% ของจำนวนการค้ำประกัน (LG) ทั้งหมด
โดยในปีนี้จะเร่งผลักดันโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneurs ต่อเนื่องระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาทให้ทันภายในไตรมาส 2 ขณะเดียวกันยังได้ดำเนินการคู่ขนานผลักดันโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS7 ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาล โดยจะเร่งนำเสนอกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
ทั้ง 2 โครงการมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs รายย่อย ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการระดับฐานรากที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในปี 2560 มีจำนวนผู้ได้รับสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด ณ 31 ธ.ค. 2560 มากกว่า 1 แสนราย
นอกจากนี้ ยังได้ตั้งเป้าสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่ม Micro ไม่น้อยกว่า 73% ของจำนวนรายการ (LG) ทั้งหมด เพื่อรองรับความต้องการที่ขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยและการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย สามารถกระจายความช่วยเหลือได้ทั่วถึง สอดคล้องกับจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านรายในปัจจุบัน
ล่าสุด บสย.ได้ประกาศหลักเกณฑ์ Single Guarantee Limit สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ Micro Entrepreneurs (SGL Micro) กำหนดกรอบวงเงินค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs ต่อราย รวมทุกโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneurs รวมทุกสถาบันการเงิน ไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย เพื่อให้วงเงินค้ำประกันกระจายไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อยให้มากที่สุด
"โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneurs เป็นโครงการตามมาตรการรัฐบาล เปิดตัวครั้งแรกในปี 2557 ได้รับอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อจากรัฐบาล จำนวน 5,000 ล้านบาท ในปี 2559 รัฐบาลมีมติให้ดำเนินโครงการต่อเนื่องในเฟส 2 และอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อจำนวน 13,500 ล้านบาท และจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 มิถุนายน 2561" นายนิธิศ กล่าว
สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่ม Non Bank ซึ่งเป็นพอร์ตค้ำประกันสินเชื่อใหม่ ขณะนี้มีความคืบหน้ามากโดยเฉพาะการศึกษาโมเดลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการ SMEs และธนาคารพันธมิตรที่จะเข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะสามารถเปิดโครงการได้ภายในปีนี้
นายนิธิศ กล่าวว่า นโยบายสำคัญในปีนี้ยังมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยจะใช้ศักยภาพของสำนักงานสาขาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยกระดับสำนักงานสาขาทั้ง 11 สาขา ให้เป็น "ศูนย์ให้คำแนะนำ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน" โดยได้เตรียมเจ้าหน้าที่ บสย.ที่มีประสบการณ์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ที่ความเชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ ตลอดจนความรู้ด้านการเตรียมตัวขอสินเชื่อกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อกับ บสย. โดย "ศูนย์ให้คำแนะนำ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน" จะเป็นพี่เลี้ยงทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการขอสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งปัจจุบัน บสย. มีพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อกับ บสย. รวม 19 ธนาคาร
สำหรับการขยายบทบาทสาขาเป็น "ศูนย์ให้คำแนะนำ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน" นี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs ที่สอบถามเข้ามายังสำนักงานสาขา ช่องทางออนไลน์ และในช่องทางโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการขอสินเชื่อที่เข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อกับ บสย. จึงเป็นที่มาของการขยายบทบาทสาขา เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้เข้ามาใช้บริการก่อนเพื่อเข้ารับการแนะนำก่อนขอสินเชื่อจากธนาคาร บสย.คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในไตรมาส 2 พร้อมเตรียมกิจกรรมสร้างการรับรู้ โดยการจัดงาน Open House ในเดือนมีนาคมนี้
พร้อมวาง 4 ยุทธศาสตร์ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ทุกมิติ ครอบคลุมด้านการค้ำประกันสินเชื่อ ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มเข้าถึงสินเชื่อ ตลอดจนการให้คำปรึกษาทางการเงิน เติมเต็มองค์ความรู้ใหม่ เพื่อการเข้าถึงสินเชื่ออย่างเต็มประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสนับสนุน SMEs ทุกกลุ่มเข้าถึงแหล่งทุนและมีความเข้มแข็งทางการเงิน ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินเพื่อความยั่งยืนระยะยาว ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลให้มีความโปร่งใสและมีคุณธรรม ยุทธศาสตร์ที่ 4 สนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 และแผน Digital Economy (DE)
นายนิธิศ กล่าวว่า ในปีนี้ บสย. ยังได้ยกระดับการจัดกิจกรรมใหญ่ประจำปี 2561 "มหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุนแฟร์" ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องทุกปี และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มองค์กรพันธมิตร หน่วยงานภาครัฐ ธนาคารพันธมิตรที่ร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งปีนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน โดยเชิญลูกค้าที่ได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย.จากทุกพื้นที่เข้าร่วมแสดงสินค้าของแต่ละท้องถิ่น เพื่อโชว์ผลงานภายในงาน โดยจะเริ่มเปิดตัวโครงการตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป